คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะในฝันของใครหลายๆ คน ที่ได้เปิดสอนในภาควิชาต่างๆ เช่น ภาควิชาการบัญชี พาณิชยศาสตร์ การธนาคารและการเงิน การตลาด และสถิติ รวมถึงได้มีการเปิดสอนในหลักสูตรนานาชาติ หรือ BBA ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการยอดฮิตที่เด็กๆ มัธยมเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เพราะเป็นคณะที่สอนให้เข้าใจตั้งแต่พื้นฐานการทำธุรกิจในทุกด้าน รวมถึง ได้มีโอกาสลองทำธุรกิจจริงๆ และยังสามารถไปฝึกงานที่บริษัทชั้นนำได้อีกหลายแห่ง
หลักสูตร BBA จุฬาเป็นคณะที่ได้รับความนิยม และมีผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้ในแต่ละปีมีจำนวนผู้สมัครในคณะนี้เป็นจำนวนมาก และคะแนนที่ต้องใช้ยื่นจึงสูงตามไปด้วย สำหรับใครที่สนใจเข้าคณะนี้ จึงควรมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเริ่มจากดูว่า BBA จุฬา คะแนนที่สอบเข้าอยู่ที่ประมาณเท่าไร BBA CU ใช้คะแนนอะไรบ้าง

ทำความรู้จัก คณะ BBA จุฬา กัน
BBA (The Bachelor of Business Administration) เป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ ที่มีระบบการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% รูปแบบการเรียนเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหาร การบัญชี การเงิน และการตลาด ซึ่งเป็นหลักสูตร 4 ปี เรียนทั้งหมด 137 หน่วยกิต เหมือนปริญญาตรีทั่วไป โดยมีสาขาวิชาเอก และสายงานที่รองรับ ดังนี้
BBA จุฬา คณะนี้! มีสาขาอะไรบ้าง?
BBA จุฬาเป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจ สำหรับหลักสูตรนี้จะช่วยให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในด้านการบัญชีระหว่างประเทศ การพัฒนาการค้าและความหลากหลายของวัฒนธรรม การวิเคราะห์การเงิน สำหรับการจัดการธุรกิจ รวมทั้ง การจัดการแบรนด์และการตลาด ซึ่งมีสาขาให้เลือกเรียนทั้งหมด 2 สาขา ดังนี้
- สาขาวิชาการบัญชี (Accounting)
- สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Management) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 เอก
- เอกการวิเคราะห์และการลงทุน (Financial Analysis and Investment)
- เอกการจัดการแบรนด์และการตลาด (Brand and Marketing Management)
- เอกธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business)
จบ BBA จุฬา แล้ว ทำงานในสายใดได้บ้าง?
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก BBA นั้น สามารถทำงานได้ในหลากหลายสายอาชีพ ไม่เพียงแต่การทำธุรกิจต่อจากที่บ้าน ขยายธุรกิจให้ไปได้ไกลขึ้น หรือการเริ่มธุรกิจใหม่เป็นของตัวเองเท่านั้น สำหรับผู้ที่จบจากสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศยังมีงานให้เลือกทำมากมาย เช่น ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักวิเคราะห์การตลาด ดูแลพอร์ตหุ้น หรืองานวิเคราะห์ทางการเงินและการลงทุน เป็นต้น ส่วนสาขาวิชาการบัญชี BBA ที่จะเน้นการศึกษาในเชิงลึก ทั้งแนวปฏิบัติทางการบัญชีไทยและสากล ทำให้มีโอกาสในการทำงานด้านบัญชีที่มีความกว้างขวางมากขึ้น เช่น โบรกเกอร์ (Broker) ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA : Certified Public Accountant)

การสอบเข้า BBA จุฬาต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง?
BBA จุฬา เป็นหลักสูตรบริหารภาคอินเตอร์ ที่หลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเข้าศึกษาให้ได้ การแข่งขันในคณะนี้ค่อนข้างสูง ทำให้คะแนน BBA จุฬาสูงตามไปด้วย การสอบเข้าโครงการ BBA นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การสอบข้อเขียน และการสอบสัมภาษณ์ สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลว่า BBA CU ใช้คะแนนอะไรบ้าง และจะเข้า BBA CU จะต้องใช้คะแนนประมาณเท่าไร ไปดูกันเลย
การสอบข้อเขียน
BBA จุฬา คะแนนที่ต้องใช้สำหรับการสอบข้อเขียนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การสอบวัดระดับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และสอบการวัดความถนัดทางคณิตศาสตร์
ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Tests)
การสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษสำหรับ BBA มีให้เลือกสอบทั้งหมด 4 แบบ คือ IELTS, TOEFL, CU-TEP & CU-TEP Speaking และ DET (Duolingo English Test) โดยที่ผู้สอบสามารถยื่นคะแนนโดยเลือกใช้คะแนนอย่างใดอย่างหนึ่ง
· IELTS
ข้อสอบ IELTS ย่อมาจาก International English Language Testing System เป็นข้อสอบที่ใช้วัดระดับความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษ ที่ได้มาตราฐานสากล เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งออกแบบมาสำหรับประเมินทักษะผู้ที่ต้องการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การย้ายถิ่นฐาน รวมถึง การศึกษาด้วย ซึ่งข้อสอบครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน มีคะแนนนเต็มอยู่ที่ 9.0 สำหรับผู้ที่กำลังเตรียมตัวสอบ IELTS ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 6.5 ในการยื่นเข้าโครงการ BBA จุฬา
· TOEFL
การสอบ TOEFL จะมีทั้งหมด 2 ประเภท คือ TOEFL ITP (Institutional Testing Program) และ TOEFL iBT (Internet-based Test) แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อใน BBA จะต้องเลือกสอบแบบ TOEFL iBT เพราะเป็นข้อสอบที่มีความเป็นมาตราฐานสากล และมีการทดสอบที่รอบด้าน ทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งจะมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 120 คะแนน โดยจะยื่นเข้าโครงการ BBA จุฬา คะแนน TOEFL จะต้องไม่ต่ำกว่า 79 คะแนน
· CU-TEP & CU-TEP Speaking
การสอบ CU-TEP & CU-TEP Speaking เป็นการทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาในระดับปริญญาตรี รวมถึง หลักสูตรนานาชาติ ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการทดสอบจะวัดทักษะความรู้ความสามารถทั้ง 4 ด้าน คือ การฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด ในส่วนของพาร์ท Speaking จะไม่สามารถขอตรวจคะแนนซ้ำได้ การตัดสินผลคะแนนของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งจะมีคะแนนเต็มที่ 150 คะแนน ผลคะแนนจะมีอายุอยู่ได้นาน 2 ปีนับจากวันที่สอบ สำหรับหลักสูตร BBA จุฬา คะแนน CU-TEP & CU-TEP Speaking จะต้องไม่ต่ำกว่า 101 คะแนน และเป็นคะแนนจากการสอบในครั้งเดียวกัน
· DET (Duolingo English Test)
DET (Duolingo English Test) เป็นแพลตฟอร์มการทำข้อสอบในระบบออนไลน์ผ่าน Video Conference ที่ไม่จำเป็นต้องนัดหมายล่วงหน้า ประกอบไปด้วย 2 พาร์ท คือ พาร์ทแรก เป็นการทดสอบทักษะพื้นฐานทางภาษาอังกฤษ ด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ส่วนพาร์ทสอง เป็นการสอบสัมภาษณ์ผ่านทางวิดีโอ โดยระดับคะแนนจะมีตั้งแต่ 0 – 160 คะแนน ซึ่ง BBA จุฬา คะแนน DET ต้องใช้ขั้นต่ำ 105 คะแนน
ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษและความถนัดทางคณิตศาสตร์ (Aptitude Tests)
สำหรับการสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษและวัดความถนัดทางคณิตศาสตร์ ในส่วนนี้ มีทั้งหมด 3 แบบ คือ SAT, CU-AAT และ ACT ซึ่งจะมีคะแนนขั้นต่ำที่กำหนดไว้แตกต่างกันออกไป ดังนี้
· SAT
ข้อสอบ SAT เป็นข้อสอบที่เน้นทดสอบการใช้เหตุและผลในวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นข้อสอบมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึง หลักสูตรอินเตอร์ในไทยใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งข้อสอบ SAT จะมุ่งเน้นไปในทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือ ‘Thinking Skills’ มากกว่า โดยข้อสอบนั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ Evidence-based Reading & Writing และ Math ซึ่งคะแนนเต็มพาร์ทละ 800 คะแนน รวมเป็น 1,600 คะแนน ดังนี้
- Evidence-based Reading & Writing เป็นข้อสอบภาษาอังกฤษที่จะวัดความเข้าใจของเนื้อหา และการเชื่อมโยงในบทความ สำหรับพาร์ท Reading ผู้สอบจะต้องวิเคราะห์บริบทที่โจทย์ให้มา เพื่อทดสอบความรู้ด้านคำศัพท์แบบเชิงลึก ส่วนข้อสอบพาร์ท Writing จะเป็นการทดสอบความเข้าใจโครงสร้างประโยค เครื่องหมายวรรคตอน คำศัพท์ รวมถึง การจัดเรียงประโยคใหม่ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ในส่วนนี้จะมีเวลาในการทำ 1 ชั่วโมง 40 นาที โดยแบ่งเป็น SAT Reading จำนวน 52 ข้อ มีเวลาในการทำข้อสอบ 65 นาที และ SAT Writing and Language จำนวน 44 ข้อ จาก 4 บทความ มีเวลาในการทำข้อสอบ 35 นาที
- Math เป็นข้อสอบคณิตศาสตร์ที่จะมีเนื้อหาเทียบเท่าคณิตศาสตร์มัธยมต้นและมัธยมปลาย ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ทักษะ Heart of Algebra, Problem Solving and Data Analysis, Passport to Advanced Math และ Additional Topics โดยมีเวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 20 นาที แบ่งเป็นสองส่วน คือ 1. Math Test – No Calculator มีข้อสอบทั้งหมด 20 ข้อ และจะต้องทำให้เสร็จภายใน 25 นาที ห้ามใช้เครื่องคิดเลข 2. Math Test – Calculator มีข้อสอบทั้งหมด 38 ข้อ และจะต้องทำให้เสร็จภายใน 55 นาที สามารถใช้เครื่องคิดเลขในการช่วยคำนวณได้
สำหรับโครงการ BBA จุฬา คะแนน SAT ที่กำหนดไว้นั้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 1,270 คะแนน
· CU-AAT
ข้อสอบ CU-AAT (Chulalongkorn University Academic Aptitude Test) เป็นแบบทดสอบความสามารถด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ออกสอบเกี่ยวกับ Arithmetic, Algebra, Geometry และ Problem Solving ส่วนพาร์ทภาษาอังกฤษ (Verbal) จะแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทใหญ่ๆ คือ Critical Reading Includes และ Writing Includes ซึ่งเป็นข้อสอบที่ใช้สำหรับประกอบการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติของจุฬาฯ โดยจะมีเวลาในการสอบพาร์ทละ 70 นาที คะแนนเต็มพาร์ทละ 800 คะแนน รวมทั้งสองพาร์ทเป็น 1,600 คะแนน ซึ่ง BBA จุฬา คะแนน CU-AAT กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1,200 คะแนน
· ACT
ข้อสอบ ACT หรือ American College Testing Assessment เพิ่งนำเข้ามาประกอบการยื่นเข้าศึกษาต่อในหลักสูตร BBA จุฬาในปี 65 เป็นปีแรก ซึ่งเป็นข้อสอบลักษณะเดียวกับข้อสอบ SAT แต่มีเนื้อหาข้อสอบที่แตกต่างกัน โดยข้อสอบ ACT จะมีคะแนนอยู่ที่ 1 – 36 คะแนน สำหรับ BBA จุฬา คะแนน ACT จะต้องไม่ต่ำกว่า 27 คะแนน ข้อสอบ ACT จะมีรายละเอียด ดังนี้
- English ภาษาอังกฤษ มีข้อสอบทั้งหมด 75 ข้อ ให้เวลาในการทำข้อสอบ 45 นาที ซึ่งจะเป็นข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก โดยข้อสอบภาษาอังกฤษจะวัดทักษะไวยากรณ์
- Mathematics คณิตศาสตร์ มีข้อสอบทั้งหมด 60 ข้อ ให้เวลาในการทำข้อสอบ 60 นาที เนื้อหาข้อสอบจะเป็นทักษะคณิตศาสตร์มัธยมปลาย ซึ่งสามารถนำเครื่องคิดเลขเข้าห้องสอบได้ แต่จะต้องไม่เป็นแบบที่คำนวณอัตโนมัติ
- Science Reasoning วิทยาศาสตร์ ข้อสอบวิทยาศาสตร์มีทั้งหมด 40 ข้อ ให้เวลาในการทำข้อสอบ 35 นาที เนื้อหาในข้อสอบเป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เน้นการให้เหตุผลทางวิทยาศตร์ ผู้สอบจะต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ ตีความ ประเมิน และการแก้ไขปัญหา ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยต่างๆ
- Reading การอ่านภาษาอังกฤษ มีข้อสอบทั้งหมด 40 ข้อ ให้เวลาในการทำข้อสอบ 35 นาที เนื้อหาข้อสอบการอ่านนั้นจะมีบทความ เรื่องสั้น หรือนวนิยาย ซึ่งเนื้อหาจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รวมถึง หมวดศิลปะ และกีฬาด้วย โดยให้อ่าน และเลือกคำตอบจาก 4 ตัวเลือกที่ให้ไป
- Writing (Optional) การเขียนภาษาอังกฤษ ให้เลือกทำ 1 ข้อ ภายในเวลา 40 นาที ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม โดยผู้สอบจะต้องเขียน เพื่อแสดงให้คณะกรรมการเห็นถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ และการใช้ไวยากรณ์ พร้อมทั้งเรียงร้อยประโยคให้สอดคล้อง น่าอ่าน และตรงประเด็นที่ต้องการสื่อสาร
การสอบสัมภาษณ์
สำหรับใครที่ยื่นคะแนน และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด รอบต่อไปก็จะเป็นการสอบสัมภาษณ์ ที่คณะกรรมการจะถามคำถามทั่วไป เกี่ยวกับธุรกิจ และครอบครัว เหตุผลที่อยากเข้าศึกษาต่อในคณะ พร้อมทั้งคำถามถึงอนาคตว่าเรียนไปแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร

“BBA – NextGen” คืออะไร แตกต่างจาก BBA อย่างไร?
BBA – NextGen เป็นการรับสมัคร และคัดเลือกนักเรียน เพื่อเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกณฑ์พิเศษ โดย BBA – NextGen จะรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อจำนวน 10 ที่นั่ง ส่วน BBA จะรับจำนวน 180 ที่นั่ง
นอกจากนี้ รอบ BBA – NextGen ยังมีเกณฑ์พิเศษในการยื่น Video Resume และ Portfolio ที่แสดงถึงความสามารถในด้านวิชาการต่างๆ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านธุรกิจ และการสื่อสาร ทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมไปถึง BBA – NextGen ยังใช้เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำการสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และความถนัดทางคณิตศาสตร์สูงกว่ารอบ BBA CU ด้วย เช่น
- BBA จุฬา คะแนน SAT 1270 คะแนน
- BBA – NextGen คะแนน SAT 1300 คะแนน
- BBA จุฬา คะแนน CU-AAT 1200 คะแนน
- BBA – NextGen คะแนน CU-AAT 1230 คะแนน
- BBA จุฬา คะแนน ACT 27 คะแนน
- BBA – NextGen คะแนน ACT 28 คะแนน
โดยโครงการ BBA – NextGen จะเปิดรับในช่วงปลายปี ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากทางเว็บไซต์ของ BBA: International Program Chulalongkorn Business School

รีวิวการสอบ BBA CU จากประสบการณ์ตรง โดยรุ่นพี่ของ Interpass
แม้การสอบเข้า BBA CU ต้องใช้คะแนนที่สูงและมีการสอบหลายอย่างเพื่อประกอบการสมัคร แต่หากน้องๆ มีการวางแผนที่ดี และเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ รู้ว่าคณะ BBA ต้องใช้คะแนนใดบ้าง ก็จะทำให้มีเวลาในการหาข้อมูล วางแผน และเตรียมตัวได้อย่างเต็มที่ เมื่อมีแพลนที่ชัดเจนแล้ว ก็ช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดย Interpass ก็มีรีวิวการสอบเข้าคณะ BBA CU เพิ่มเติมจากรุ่นพี่ของ Interpass มาฝากทุกคน เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจและเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมไปสู่คณะในฝัน
BBA CU เป็นหลักสูตรนานาชาติ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีให้เลือก 2 สาขาหลัก คือ สาขาวิชาการบัญชี (Accounting) และสาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Management) ซึ่งหลายๆ คนคงได้ทราบกันไปแล้วว่า BBA CU ใช้คะแนนอะไรบ้าง ที่สำคัญการสอบเข้า BBA มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มว่าโครงการ BBA จุฬา คะแนนจะสูงขึ้นในทุกๆ ปี จึงอยากให้ผู้อ่านได้เตรียมพร้อมในการสอบ เพื่อที่จะได้เข้าคณะที่ตัวเองตั้งใจได้