BLOG

    Home Blog Latest 7 ทริค รวมวิธีการเขียน Essay Writing อย่างไรให้ปัง

7 ทริค รวมวิธีการเขียน Essay Writing อย่างไรให้ปัง

วิธีการเขียน Essay Writing

Essay เป็นการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ ในประเด็นที่ผู้เขียนนั้นมีความสนใจ โดยจะต้องมีหลักฐาน แหล่งที่มา เพื่อสนับสนุนงานเขียนให้มีความเชื่อถือมากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว การเขียน Essay หรือ Essay Writing จะมีส่วนประกอบสำคัญๆ เพียง 3 อย่าง คือ บทนำ เนื้อหา และสรุป ซึ่งการเขียน Essay ถือเป็นทักษะสำคัญที่ใช้สำหรับการสอบ การเขียนงาน รวมถึง การเขียนขอทุนด้วย แต่จะทำอย่างไรให้การเขียน Essay มีความน่าสนใจ บทความนี้ได้รวบรวมทริควิธีการเขียน Essay Writing มาให้อ่าน พร้อมตัวอย่างการเขียน Essay

วิธีการเขียน Essay

โครงสร้างของ Essay มีอะไรบ้าง

การเข้าใจโครงสร้างของ Essay ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง จะช่วยให้วางแผนการเขียน และแบ่งสัดส่วนของเรียงความได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งโครงสร้างของ Essay นั้นมีส่วนประกอบหลักๆ ด้วยกัน 3 ส่วน ดังนี้ 

บทนำ (Introduction)

Introduction หรือ บทนำ ถือว่าเป็นส่วนแรกของบทความ มักจะมีจำนวน 1 ย่อหน้า ที่จะบอกถึงใจความสำคัญ (Main idea) ของ Essay หรือที่เรียกกันว่า Thesis Statement เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ว่าบทความนี้จะพูดถึงเรื่องอะไร โดยจะบอกเพียงรายละเอียดคร่าวๆ ถึงหัวข้อหลักๆ หรือความเห็นในหัวข้อเรื่องที่จะเขียน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่านเข้าใจว่าบทความนี้จะไปในทิศทางใด ซึ่งจำเป็นจะต้องเขียนให้น่าสนใจ มีความดึงดูด ชวนให้ผู้อ่านอยากติดตามเนื้อเรื่องต่อ 

เนื้อความ (Body)

สำหรับส่วนของเนื้อความหรือ Body เป็นส่วนที่มีความยาวที่สุด เพราะจะต้องเรียบเรียงใจความสำคัญทั้งหมดไว้ในส่วนนี้ ทั้งข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ช่วยสนับสนุนความคิดของเรา และส่วนที่แสดงจุดยืน โดยส่วนใหญ่แล้วเนื้อความมักจะมีตั้งแต่ 1-5 ย่อหน้า โดยที่ 1 ย่อหน้าจะมี 1 ใจความสำคัญพร้อมทั้งข้อมูลสนับสนุน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและจำนวนข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ 

สรุป (Conclusion)

สรุปหรือ Conclusion เป็นส่วนสุดท้ายของบทความ ที่จะมัดรวมส่วนบทนำและเนื้อความให้อยู่ใน 1 ย่อหน้าสุดท้าย เพื่อสรุปรวมเรื่องทั้งหมด ย้ำให้ผู้อ่านเข้าใจอีกครั้งว่าบทความนี้ต้องการสื่อสารไปในทิศทางใด หรือประเด็นอะไรที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรียงความ โดยเน้นเนื้อหาที่สำคัญเท่านั้น ไม่ต้องใส่รายละเอียดเข้าไปมาก และที่สำคัญต้องไม่พูดประเด็นใหม่ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในส่วนเนื้อความ 

เขียน Essay ยังไง

ทำความรู้จัก Paragraph! ส่วนประกอบสำคัญของ Essay ที่ไม่ควรมองข้าม

วิธีเขียน Essay นั้นในแต่ละส่วนจะต้องประกอบด้วยย่อหน้า (Paragraph) ที่มีหน้าที่หลัก คือ การให้ข้อมูลกับผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อมากขึ้น รวมทั้งคล้อยตามกับข้อมูลที่ได้นำเสนอไป นอกจากนี้ การเขียนเนื้อหาในแต่ละ Paragraph ให้มีความเหมาะสม ยังช่วยให้ Essay ของเรามีเอกภาพได้ โดยวิธีเขียน Essay จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนย่อย ดังนี้

Topic Sentence 

Topic Sentence เป็นส่วนแสดงถึงความคิดหลักหรือ Main Idea โดยมักจะอยู่เป็นประโยคแรกของย่อหน้า เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าย่อหน้านั้นๆ กำลังจะพูดถึงประเด็นอะไร ซึ่ง Topic Sentence ควรสั้น กระชับ และเข้าใจง่าย หรือมีส่วนที่แสดงความคิดเห็นของผู้เขียน รวมถึง เป็นประโยคที่สมบูรณ์ (Complete Sentence) เช่น Teamwork is an important element of success.

Supporting Sentence

Supporting Sentence เป็นส่วนของข้อมูล การลงรายละเอียดที่จะช่วยขยายความส่วนของ Topic Sentence เพื่อสนับสนุนความคิดหลักให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อาจจะเป็นการให้ตัวอย่าง ยกงานวิจัยมาอ้างอิง หรือใช้สถิติช่วย ดังนั้น ในส่วนของ Supporting Sentence ต้องตรงประเด็น เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าความคิดหลักนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น 

Concluding Sentence

สำหรับส่วนของ Concluding Sentence เป็นการสรุปรวมใจความสำคัญของเนื้อเรื่องทั้งหมด เพื่อย้ำให้ผู้อ่านเข้าใจอีกรอบว่าบทความมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอะไร บางครั้ง Main Idea สามารถอยู่ในส่วนนี้ได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ Concluding Sentence มักมีใจความเช่นเดียวกับ Topic Sentence แต่อย่างไรก็ดี Concluding Sentence จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หากย่อหน้าเรากระชับอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสรุปเพิ่มในแต่ละย่อหน้า

เทคนิคการเขียน Essay ให้ดี

7 เคล็ดลับวิธีเขียน Essay ให้น่าสนใจ

วิธีเขียน Essay ให้น่าสนใจจำเป็นต้องมีเคล็ดลับต่างๆ เพื่อให้บทความนั้นน่าอ่าน ชวนให้ติดตามเนื้อหาอื่นๆ ต่อไป ซึ่ง 5 เคล็ดลับที่ช่วยให้บทความน่าสนใจมีดังนี้ 

1. เริ่มบทนำให้ดึงดูดผู้อ่าน 

บทนำถือเป็นย่อหน้าแรกของ Essay ที่จะช่วยให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าเรากำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร และมีประเด็นน่าสนใจอะไรบ้าง น้องๆ จึงควรเขียนให้กระชับ และเข้าใจง่าย ที่สำคัญบทนำต้องมีความน่าสนใจ ดึงดูดให้ผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากอ่านเนื้อหาในส่วนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการเกริ่นให้น่าสนใจสามารถทำได้หลายวิธี

  • เปิดด้วยประโยคคำถาม เพื่อชวนให้ผู้อ่านฉุกคิด และคิดตามเนื้อหาอื่นๆ ต่อ
  • ขึ้นต้นด้วยข้อมูล หรือสถิติตัวเลขที่น่าสนใจ
  • ขึ้นต้นด้วยความคิดเห็นของผู้เขียน เพื่อชวนให้ผู้อ่านขบคิดต่อในประเด็นนั้นๆ 
  • เขียนบทนำจากกว้างไปแคบ เพื่อค่อยๆ ให้ผู้อ่านทำความเข้าใจ จนมาถึงประเด็นสำคัญของเรื่อง หรือบางครั้งอาจจะขึ้นต้นด้วยประเด็นสำคัญก่อน แล้วค่อยให้เหตุผลก็ถือเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ 

2. ใส่เหตุผลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ

วิธีเขียน Essayที่ดี ไม่ว่าจะเป็น Essay ประเภทใดก็ตาม ควรต้องใส่เหตุผล พร้อมทั้งใส่แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนความคิดของตัวเองที่ได้เขียนลงไป เพื่อโน้มน้าว ชักจูงให้ผู้อ่านเชื่อ หรือคล้อยตามในสิ่งที่เขียนลงไป 

3. สรุปจบให้น่าจำ

ส่วนสรุปเป็นการย้ำประเด็นสำคัญของเรื่องอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รู้สึกสนใจ ตระหนักถึงปัญหามากขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงความคิด ซึ่งรูปแบบในการเขียนสรุปให้น่าจดจำมีดังนี้ 

  • สรุปแบบปลายเปิด เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้คิดในแง่มุมของตนเองอย่างอิสระ โดยไม่มีการชี้นำจากผู้เขียน แต่จะให้สรุปเองจากข้อมูลที่ได้นำเสนอไป 
  • สรุปแบบเสียดสี เป็นการเขียนแบบเปรียบเปรย กระทบกระเทียบ หรือแฝงบางอย่างเป็นนัยยะ เพื่อกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้อ่าน 
  • สรุปแบบให้แง่คิด เป็นการเขียนให้คำแนะนำในส่วนจบของเรื่อง 
  • สรุปแบบการตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้อ่านได้คิดตาม
  • สรุปแบบโน้มน้าว เชิญชวนให้ผู้อ่านเปลี่ยนแปลงความคิด หรือโน้มน้าวให้ผู้อ่านคล้อยตาม

4. เขียนให้กระชับ เข้าใจง่าย

ในส่วนของเนื้อความถือว่าเป็นส่วนที่มีเนื้อหามากที่สุดเลยก็ว่าได้ ซึ่งน้องๆ จะต้องจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาให้มีความต่อเนื่อง สอดคล้องกันอย่างเป็นธรรมชาติ และตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็น ที่สำคัญควรเขียนให้กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษาที่ซับซ้อนจนเกินไป เลือกใช้คำให้ถูกบริบท เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างตรงประเด็นมากที่สุด 

5. ใช้หลักไวยากรณ์ให้แม่นยำ

การเขียน Essay ถือเป็นการทดสอบทักษะในการเขียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำศัพท์ รวมถึงการใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง ดังนั้น เทคนิคเขียน Essay ให้น่าสนใจ จำเป็นจะต้องใช้โครงสร้างหลักไวยากรณ์ให้ถูกต้อง 

6. ตรวจทานก่อนส่งเสมอ 

การตรวจทานก่อนส่งเสมอไม่ว่าจะเป็นการเช็กคำผิด เครื่องหมายวรรคตอน รวมถึงการตรวจความถูกต้องของเนื้อหา สามารถช่วยลดความผิดพลาด และช่วยให้บทความนั้นมีความสมบูรณ์มากขึ้นได้ นอกจากการตรวจด้วยตัวเองแล้ว ในปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่ช่วยในการตรวจทานหรือตรวจแกรมม่าอยู่หลายเว็บไซต์ เช่น Grammarly, Online Text Correction และ Paper Rater เป็นต้น 

ข้อควรระวังในการเขียน essay

7. หาผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำ

อีกหนึ่งวิธีเขียน Essay ให้น่าสนใจ คือ หาผู้ที่เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำเรื่อง Writing เพราะจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นข้อผิดพลาดในงานเขียนของตัวเอง รู้ว่าควรปรับปรุงในส่วนใดเพิ่มเติม ช่วยให้งานเขียนนั้นพัฒนาได้เร็วขึ้น ซึ่ง iWRITE (Exclusive Interpass Service) เป็นบริการที่ช่วยตรวจ Writing ทั้งการใช้แกรมม่าร์ รวมถึง การเลือกใช้คำศัพท์ และ Idea ภาพรวมของ Essay  เพื่อช่วยฝึกฝนให้งานเขียนของน้องๆ ออกมาได้ดียิ่งขึ้น 

จากตัวอย่างการแก้ไขข้างบน การปรับเป็น “Overall, it can be clearly seen that most people rarely ate in the fast food restaurant through a decade.” ช่วยให้ประโยคดังกล่าวดูกระชับและเป็นธรรมชาติมากขึ้น รวมถึง มีการปรับจากคำว่า “have” ที่อยู่ในรูป Verb 1 ตามโครงสร้าง Present Simple Tense ให้เป็น “ate” ที่อยู่ในรูป Verb 2 ตามโครงสร้าง Past Simple Tense เพื่อให้สอดคล้องกับการกล่าวถึงสถิติที่รวบรวมเหตุการณ์ในอดีต

เขียนเรียงความ ภาษาอังกฤษ

หลักและวิธีเขียน Essay Writing 

นอกจากเคล็ดลับการเขียน Essay ให้น่าสนใจแล้ว ยังมีหลักการง่ายๆ 4 ขั้นตอน ซึ่งช่วยให้เขียน Essay ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น และรู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไร 

Planning

การวางแพลนเป็นขั้นตอนแรกหลังจากที่ได้หัวข้อบทความมาแล้ว ผู้เขียนจะต้องจัดระเบียบความคิดของตัวเอง โดยเริ่มจากการวางกรอบของบทความอย่างคร่าวๆ ว่าจะพูดถึงประเด็นใด จะเขียนทั้งหมดกี่ย่อหน้า และในแต่ละย่อหน้าจะเขียนถึงอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าการเขียน Outline เพื่อทำให้ Essay เรามีโครงสร้างที่ชัดเจนและเพื่อไม่ให้บทความที่เขียนหลงประเด็น และสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

Drafting 

Drafting หรือการร่างงานเขียน เป็นการเขียนตามแพลนที่วางไว้ โดยอาจจะยังไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของหลักไวยากรณ์ หรือเขียนด้วยภาษาที่สวยมากนัก แต่เน้นการเขียนให้ตรงประเด็น และสามารถถ่ายทอดความคิดเห็นลงไปในงานเขียนได้

Writing

เมื่อร่าง Essay ไว้คร่าวๆ แล้ว ว่าจะเขียนไปในทิศทางใด ก็ถึงเวลาลงมือเขียนจริง โดยเขียนให้แต่ละย่อหน้ามีความสอดคล้องกัน รวมถึง ควรเลือกใช้คำศัพท์ให้เหมาะสมและถูกบริบท 

Editing

หลังจากที่เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง โดยผู้เขียนจะต้องตรวจสอบเนื้อหาที่เขียนว่าอ่านแล้วลื่นไหลหรือไม่ มีส่วนใดที่ควรแก้ไขบ้าง รวมทั้ง ตรวจสอบคำผิด เครื่องหมายวรรคตอน และไวยากรณ์ต่างๆ เพื่อให้ Essay มีความสมบูรณ์มากที่สุด 

ประเภทของ Essay

ประเภทของ Essay ที่เจอได้บ่อยๆ 

โดยทั่วไปวิธีเขียน Essay ก็จะมีหลักการคล้ายๆ กัน คือ ต้องมีส่วนบทนำ เนื้อหา และส่วนสรุป แต่การรู้จักประเภท Essay แต่ละแบบสามารถช่วยให้ถ่ายทอดข้อมูล หรือประเด็นที่ต้องการสื่อสารได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งประเภทของบทความที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

  • Process Essay เป็น Essay ที่บอกกระบวนการ วิธีการอย่างมีลำดับขั้นตอน และลำดับเวลา 
  • Argument Essay เป็นการเขียนแสดงเหตุและผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้ง 
  • Description Essay บทความที่เขียนเชิงพรรณา โดยจะต้องเขียนให้ชัดเจน และอธิบายอย่างครอบคลุม 
  • Definition Essay การเขียนเรียงความแบบคำจำกัดความ เป็นการเขียนที่ระบุประเด็นที่ต้องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม 
  • Classification Essay เรียงความแบบแยกประเภทจะแบ่งข้อมูลออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งมีแหล่งข้อมูลชุดเดียวกัน และควรมีการอ้างอิง หรืออธิบายให้เห็นภาพชัดเจนว่าแต่ละกลุ่มต่างกันอย่างไร
  • Cause and Effect Essay การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษประเภทเหตุและผล จะต้องวิเคราะห์ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร และส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยจะต้องอธิบายถึงสาเหตุและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ถูกต้อง
  • Compare-Contrast Essay เป็นการเขียนเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือน หรือความต่างกัน

ตัวอย่างการเขียน Essay และการวิเคราะห์องค์ประกอบ

หลังจากที่น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับโครงสร้างของ Essay และ Paragraph รวมถึง ประเภทและเทคนิคกันไปแล้ว ในส่วนนี้จะพาไปดูตัวอย่างการเขียน Essay พร้อมกับการแยกองค์ประกอบ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยตัวอย่างนี้จะเป็น Argument Essay เพื่อแสดงความคิดเห็นว่า ควรเลือกพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะก่อนการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ย่อหน้า (Paragraph) และมีโครงสร้าง ดังนี้

การเขียน Introduction

บทนำ (ย่อหน้าที่ 1)

ในย่อหน้าที่ 1 ของตัวอย่าง Essay คือ ส่วนที่เรียกว่า บทนำ (Introduction) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 4 ประโยค  โดยที่เริ่มพูดจากข้อมูลกว้าง ๆ มาก่อน เพื่อเกริ่น กล่าวคือ การพูดว่าคนในปัจจุบันต้องการความสะดวกสบาย แล้วค่อยพูดแคบลงไปที่เรื่องของการเดินทาง

โดยวิธีการเขียนบทนำที่ใช้จะเรียกว่า “การเขียนจากกว้างไปแคบ” คือ ผู้เขียนได้กล่าวถึงความสำคัญของการคมนาคมแบบองค์รวม ก่อนที่จะแสดงจุดยืนของตนเองว่า ควรยกระดับการคมนาคมสาธารณะ เพราะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจุดยืนดังกล่าวคือ Main Idea ของ Essay ที่เราเรียกกันว่า Topic Sentence

การเขียนเนื้อความรายงาน
การเขียนเนื้อความ essay

เนื้อความ (ย่อหน้าที่ 2-3)

เนื้อความ (Body) ของ Essay ตัวอย่างประกอบไปด้วย 2 ย่อหน้า (Paragraph) ที่มีใจความขัดแย้งกัน ดังนี้

  • ย่อหน้าที่ 2: จะมีใจความถึงข้อดีของรถไฟฟ้าความเร็วสูง อ้างอิงจาก Topic Sentence ที่ว่า “It may be true that high speed trains’ railway line can make life more convenient.” โดยมี Supporting Sentence จำนวน 2 ประโยค ทั้งนี้ มีการเลือกใช้คำว่า “may” ใน Topic Sentence เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความเป็นไปได้ ซึ่งมีผลให้ย่อหน้าที่ 2 มีน้ำหนักหรือมีความหนักแน่นที่น้อยกว่าย่อหน้าที่ 3
  • ย่อหน้าที่ 3: จะมีใจความขัดแย้งกับย่อหน้าที่สอง เพื่อเสริมมุมมองหลักของผู้เขียนที่ต้องการให้เห็นความสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะก่อนการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง อ้างอิงจากการขึ้นต้น Topic Sentence ซึ่งเป็นส่วนของ Main Idea ในย่อหน้า (Paragraph) ด้วยคำว่า “However” 

ในส่วนของเนื้อหาในย่อหน้าที่ 2 และ 3 ไม่มี Concluding Sentence ตามหลักโครงสร้างของย่อหน้า (Paragraph) เพราะเนื้อความกระชับอยู่แล้ว และคนอ่านยังไม่สับสนว่าพูดถึงเรื่องอะไร ดังนั้น ในกรณีแบบนี้ไม่ต้องเขียน Concluding Sentence ก็ได้ 

การเขียนสรุปเรียงความ essay

สรุป (ย่อหน้าที่ 4)

ในส่วนของสรุป (Conclusion) หรือย่อหน้าที่ 4 ในตัวอย่างการเขียน Essay เป็นส่วนที่มีองค์ประกอบของย่อหน้า (Paragraph) อย่างครบถ้วน โดยมีใจความหลัก (Main Idea) อยู่ที่ Topic Sentence “To conclude, in my opinion, all the actions which can elevate the quality of human life are essential, but we have to prioritise things based on their importance.” ซึ่งมีจุดประสงค์ในการเน้นย้ำถึงจุดยืนของผู้เขียน และแนวคิดหลักของ Essay 

โดยจากตัวอย่างเป็นการสรุปจบแบบโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นด้วย โดยการใช้ Supporting Sentence เป็น “Better transportation leads more people to new areas, with enough population will form the community whose the most valuable resources for area development.” เพื่อสนับสนุนว่าระบบขนส่งมีความสำคัญอย่างไร และใช้ Concluding Sentence เป็นการเน้นย้ำถึงผลเสียหากระบบขนส่งสาธารณะมีคุณภาพต่ำ  “If the existing public transportation’s quality is poor, it will obstruct the process of land development.” 

Essay เป็นการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ มีโครงสร้างด้วยกัน 3 ส่วน คือ บทนำ เนื้อความ และส่วนสรุป ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการเขียน ด้วยการเรียบเรียงบทความให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นเหตุเป็นผล และใช้ไวยากรณ์ได้อย่างถูกต้อง สำหรับวิธีเขียน Essay ให้น่าสนใจ ควรเริ่มตั้งแต่เขียนบทนำให้ดึงดูดผู้อ่าน บทความกระชับ เข้าใจง่าย และจะต้องมีเหตุผลน่าเชื่อถือ รวมถึง การสรุปจบให้เป็นที่จดจำ ซึ่งหากน้องๆ คนไหนที่เตรียมตัวสอบ IELTS ในช่วงนี้ควรหมั่นฝึกเขียน Essay บ่อยๆ หรือหากมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำเรื่อง Writing ก็จะช่วยให้รู้ข้อผิดพลาดที่ต้องปรับปรุง ทำให้งานเขียนของเรานั้นพัฒนาได้เร็วขึ้น วิธีเหล่านี้ถือเป็นวิธีการเขียน Essay Writing ที่ดี และน่าสนใจมากทีเดียว  

10 คำถามยอดฮิตก่อนสอบ BMAT EP.1คณะบริหาร-เศรษฐศาสตร์ BBA EBA BE BAScii] ต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง? ถ้าอยากสอบเข้าคณะอินเตอร์ยอดฮิต

Date : Jun 15, 2022

You May Like