
ข้อสอบ Error Identification คือข้อสอบหาจุดผิดทางไวยากรณ์ในโจทย์ที่ได้รับ เราสามารถเจอข้อสอบแนวนี้ได้ทั้งใน TU-GET และ CU-TEP เลยค่ะ ดังนั้นใครที่ต้องการคะแนนจาก 2 การสอบนี้ยังไงก็ต้องเจอแน่นอน แต่หลายๆ คนก็ยังมีคำถามรวมถึงยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับข้อสอบชนิดนี้ยังไง วันนี้พี่เพนนีเลยจะมาไขข้อข้องใจยอดฮิตพร้อมกับแนะนำการทำ Error Identification เบื้องต้นกันค่ะ
Q: จะเริ่มทำข้อสอบ Error Identification ยังไงดี?

ก่อนอื่นเลยเราต้องพยายามหา Subject และ Verb ของโจทย์ให้เจอก่อนค่ะ เมื่อเจอแล้วให้วิเคราะห์เลยว่าประธานและกริยาหลักนี้สอดคล้องกันถูกต้องตามหลัก Subject-Verb Agreement หรือไม่ หากถูกต้องแล้วค่อยขยับขยายไปดูส่วนอื่นๆ เช่นประโยคย่อย ส่วนขยาย หรือการสะกดของ choice อย่าลืมว่าภาษาอังกฤษหากมีการเปลี่ยนแปลงตัวสะกดก็สามารถเปลี่ยนหน้าที่ของคำนั้นๆ ไปเลย
ตัวอย่าง
The financial and (1) economic turmoil of (2) the last two years (3) have created a (4) completely new environment for business.
คำตอบที่ถูกต้องของข้อนี้คือ (3) have created ค่ะ อย่างที่พี่บอกไปว่าเราจะต้องเช็ค Subject และ Verb ของประโยคก่อน ซึ่งในที่นี้ประธานคือ The financial and economic turmoil ซึ่ง turmoil เป็น head noun และเป็นเอกพจน์ ดังนั้นกริยาที่ตามมาต้องเป็นเอกพจน์เช่นกันจึงควรแก้เป็น has created ค่ะ
Q: แปลไม่ได้ = ทำไม่ได้ ใช่มั้ย?
การแปลเป็นหนึ่งในความกังวลหลักๆ ของน้องๆ ที่จะต้องเจอกับข้อสอบ Error เลยค่ะ แต่ความจริงแล้วการทำข้อสอบแนวนี้ไม่จำเป็นต้องแปลทั้งหมดได้นะ! สิ่งที่สำคัญกว่าการแปลคือการรู้ว่าคำไหนทำหน้าที่อะไรในประโยคและควรจะมีหน้าตายังไงมากกว่า ดังนั้น พยายามกลับไปทวนแกรมม่าพื้นฐาน (Subject-Verb Agreement, Strategic Structure, Sentence Structure เป็นต้น) และพวก Word Formation ต่างๆ ดีกว่ามานั่งกังวลว่าจะแปลยังไงนะจ๊ะ
ตัวอย่าง
(1) Authoritative in the Netherlands have discovered an (2) apparent torture site (3) hidden inside shipping containers, which were lined with (4) sound-proofing material and filled with assumed torture devices, the country’s National Prosecutor’s Office has said.
ข้อนี้หากหาประธานและกริยาเจอจะรู้ได้ทันทีว่าต้องตอบ (1) Authoritative เพราะ Authoritative เป็น Adjective และมันทำหน้าที่ประธานไม่ได้! หากจะแก้ไขให้ถูกต้องเราต้องเปลี่ยนเป็น Authorities ซึ่งหมายถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงจะสามารถเป็นประธานของประโยคนี้ได้ค่ะ
Q: ต้องเขียนแก้ประโยคหรือไม่?
บอกเลยว่าเวลาอยู่ในห้องสอบจริงเราไม่จำเป็นต้องเขียนแก้ไขคำตอบที่เราเลือกนะคะ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการดีหากเราสามารถบอกได้ว่าข้อที่เราตอบมันผิดยังไง เพื่อเป็นการย้ำให้แน่ใจอีกทีว่าข้อนั้นผิดจริงๆ เพราะฉะนั้นพี่ขอแนะนำว่าหากเราฝึกทำข้อสอบเองอยู่ที่บ้าน มีเวลาเยอะๆ ก็แก้ไปด้วยเถอะค่ะ จะได้เป็นการลับ skill การจับผิดข้อสอบแนวนี้และเป็นการฝึกเช็คคำตอบไปในตัวด้วย พอไปทำข้อสอบจริงๆ จะได้มองไวขึ้นและเลือกได้แม่นยำมากขึ้นค่ะ
Q: ข้อสอบ Error Identification เกี่ยวอะไรกับ Writing?
บางครั้งเราจะเห็นว่าข้อสอบ Error จะไปอยู่ในหัวข้อ Writing เวลาทำข้อสอบเพราะ Error Identification คือการหาข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ในประโยค นั่นหมายความว่าเป็นข้อสอบที่วัดความแม่นยำของเราในด้านนี้และเมื่อเรามีพื้นฐานแกรมม่าที่ดี นั่นหมายความว่าเรารู้และสามารถเขียนได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ข้อสอบ Error มีความเกี่ยวข้องกับ Writing อย่างมากเลยทีเดียวค่ะ ฉะนั้นหากเราตั้งใจฝึกฝนที่จะทำข้อสอบ Error นี้มากๆ ก็ถือเป็นการช่วยฝึก skill การเขียนของเราได้ด้วยนะ ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัวเลยนะคะ

สุดท้ายนี้หากน้องๆ ยังมีคำถามเพิ่มเติมหรือยังไม่พร้อมที่จะเตรียมตัวด้วยตัวเอง แวะมาปรึกษาพี่ๆ Interpass ได้นะคะ ที่นี่เรามีคอร์ส Super Grammar ซึ่งเป็นคอร์สเน้นไวยากรณ์เพื่อการสอบ Error Identification โดยเฉพาะ รับรองว่าน้องๆ จะได้ทบทวนความรู้ Grammar อย่างเข้มข้น อีกทั้งมีพี่ๆ ติวเตอร์คอยให้คำแนะนำอีกด้วย หรือถ้าใครอยากเตรียมตัวให้ครบทุกพาร์ทสำหรับการสอบทั้ง CU-TEP และ TU-GET สามารถมาเรียนคอร์ส CU-TEP/TU-GET ครบทุกทักษะ Grammar, Reading, Vocabulary และ Listening แล้วมาเจอกันนะคะ