BLOG

    Home Blog GED เรียน GED ทางลัดสู่มหาวิทยาลัย จบ ม.ปลาย ใน 1 ปี

เรียน GED ทางลัดสู่มหาวิทยาลัย จบ ม.ปลาย ใน 1 ปี

เรียน GED

หลาย ๆ คน อาจเคยได้ยินคำว่า “สอบเทียบ” กันมาบ้าง โดยเฉพาะน้อง ๆ ม.ปลาย ที่ต้องการ Fast Track เข้ามหาวิทยาลัย ใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็สามารถคว้าโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้ ด้วยการสอบ GED ที่ใช้เพียงแค่ 4 วิชา ทำคะแนนผ่านตามเกณฑ์ก็สามารถนำคะแนนไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยได้ทันที มาทำความรู้จัก การสอบ GED ให้มากขึ้น 4 วิชาที่ต้องสอบมีอะไรบ้าง เกณฑ์ในการรับคะแนนต้องได้ขั้นต่ำเท่าไหร่ เรียน ม.ปลาย สอบเทียบได้ไหม บทความนี้มีคำตอบ

GED คืออะไร ข้อดีของการเรียน GED มีอะไรบ้าง

GED หรือชื่อเต็ม General Educational Development เป็นการสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา การสอบ GED ได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษา และ องค์กรต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่งรับวุฒิ GED สำหรับใช้ยื่นเพื่อเข้าศึกษาต่อ

ข้อดีของการสอบ GED มีอะไรบ้าง

สำหรับข้อดีของการสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย หรือ GED ลิสต์มาได้ 4 ข้อด้วยกัน

1. สอบเทียบวุฒิให้สำเร็จ เพื่อที่จะมีเวลาโฟกัสวิชาอื่น

หลักสูตรการเรียน GED มุ่งเน้นไปที่ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ ใช้เวลาเรียน และ สอบน้อยกว่าหลักสูตรมัธยมศึกษาเต็มรูปแบบ ช่วยให้ผู้เรียนมีเวลาเหลือสำหรับการเรียนรู้เพิ่มเติม พัฒนาทักษะ หรือทำงานพิเศษ

2. ไม่ต้องเสียเวลาเรียนวิชาที่เราไม่ได้ใช้

เนื้อหาการสอบ GED เน้นทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริง ไม่ต้องเรียนวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสนใจ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถโฟกัสไปที่วิชาที่ตนเองชอบ หรือวิชาที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ

3. อายุ 16 สอบได้ทันที มีคะแนนก่อนใคร

ผู้ที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครสอบ GED ได้ทันที เมื่อสอบผ่านแล้ว ผู้เรียนจะได้รับวุฒิเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบการสมัครเรียนต่อได้

4. ทางเลือกสำหรับน้องๆ ที่ไปแลกเปลี่ยน ไม่ต้องกลับมาซ้ำชั้น

นักเรียนที่ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ สามารถสอบ GED แทนการเรียนชั้น ม.ปลาย เมื่อกลับมาประเทศไทย ผู้เรียนจะได้รับวุฒิเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ต้องเสียเวลาเรียนซ้ำชั้น สามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ทันที

จะเห็นได้ว่าการสอบ GED เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการวุฒิเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ช่วยให้ผู้เรียนประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และ มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้

GED เหมาะกับใครบ้าง และ ที่ไหนรับคะแนน GED

การสอบ GED หรือ การสอบเทียบวุฒิ ม.6 เป็นทางเลือกของใครหลาย ๆ คน ที่ต้องการอยากพาสชั้นเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยการยื่นคะแนนจากการสอบ GED สำหรับการสอบ GED เหมาะกับบุคคลหลายกลุ่ม อาทิ

  •  นักเรียนที่ไม่ได้เรียนตามระบบการศึกษาปกติ
  • นักเรียนที่เรียนในระบบ Homeschool
  • ผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ
  • นักเรียนที่ต้องการจบ ม.6 ให้เร็วขึ้น 
  • นักเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยไหนบ้างที่รับคะแนน GED

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐบาล และ เอกชน รับคะแนน GED สำหรับการยื่นเข้าศึกษาต่อ วันนี้เราขอเน้นที่ มหาวิทยาลัย หลักสูตรนานาชาติ มาดูกันว่า ผลสอบ GED เข้ามหาลัยไหนได้บ้าง?

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

– คณะอักษรศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BALAC)

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ การออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ (COMMDE)

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (ISE)

– คณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BCM)

– คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (EBA)

– คณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BSAC)

– คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA)

2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– คณะพาณิชยศาสตร์ และ การบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA)

– คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BE)

– คณะนิติศาสตร์ กฎหมายธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (LLB)

– คณะวารสารศาสตร์ และ สื่อสารมวลชน สาขาสื่อมวลชนศึกษา หลักสูตรนานาชาติ (BJM)

– คณะศิลปศาสตร์ โครงการวิเทศคดีศึกษา (อาเซียน-จีน) หลักสูตรนานาชาติ (IAC)

– คณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรนวัตกรรมการบริการ หลักสูตรนานาชาติ (BSI)

– คณะสังคมสงเคราะห์ สาขาวิชานโยบายสังคม และ การพัฒนา หลักสูตรนานาชาติ (SPD)

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ การออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง หลักสูตรนานาชาติ (UDDI)

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)

3. มหาวิทยาลัยมหิดล

– คณะวิทยาศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (B.Sc.)

– คณะการจัดการบัณฑิต สาขาการจัดการบริการนานาชาติ (BM)

– คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (BBA)

– คณะศิลปศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (BA)

– คณะศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศ หลักสูตรนานาชาติ (BFA)

– คณะนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อ และ การสื่อสาร หลักสูตรนานาชาติ (B.Com.Arts.)

4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (IUP)

– คณะวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรเขตร้อน (B.S.)

– คณะมนุษยศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ (นานาชาติ) (B.A.-Integrated Tourism Management)

– คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (B.A. & B.Econ)

ทั้งนี้ เงื่อนไขการรับสมัคร คะแนน GED ขั้นต่ำ รวมถึงคุณสมบัติของผู้สมัครอาจแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย 

GED เรียนอะไรบ้าง สอบวิชาอะไรบ้าง ฉบับอัปเดตล่าสุด

สำหรับเนื้อหาการสอบ GED เพื่อสอบเทียบวุฒิ จบ ม.ปลาย จะใช้ 4 วิชา ต่อไปนี้

1. วิชาภาษาอังกฤษ (Reasoning Through Language Arts – RLA)

ข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ เน้นทักษะการอ่าน เขียน วิเคราะห์ และ สื่อสารภาษาอังกฤษ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  • Reading for Meaning เป็นการวัดความสามารถในการอ่าน และ ทำความเข้าใจข้อความภาษาอังกฤษ
  • Identifying and Creating Arguments เป็นการวัดความสามารถในการเขียนเรียงความ แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล
  • Grammar and Language เป็นการวัดความรู้ และ ความเข้าใจในหลักไวยากรณ์ และ การใช้ภาษาอังกฤษ

ข้อสอบ RLA จะใช้เวลารวม 150 นาที มีทั้งแบบตัวเลือก และ เขียนเรียงความ 1 ฉบับ

2. วิชาคณิตศาสตร์ (Mathematical Reasoning)

เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และ คำนวณทางคณิตศาสตร์ เนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับจำนวนเต็ม พีชคณิต เรขาคณิต สถิติ และ ความน่าจะเป็น ใช้เวลาในการทำข้อสอบ 115 นาที

3. วิชาวิทยาศาสตร์ (Science) 

เน้นความรู้ และ ทักษะทางวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็น 4 ส่วนคือ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และ วิทยาศาสตร์โลก และ อวกาศ โดยหัวข้อที่ออกสอบ จะมีดังนี้

  • Reading for meaning in Science ทักษะการอ่านเพื่อทำความเข้าใจในวิทยาศาสตร์
  • Designing and interpreting science experiments การออกแบบ และ ตีความการทดลองทางวิทยาศาสตร์
  • Using numbers and graphics in science การใช้ตัวเลข และ กราฟิกในวิทยาศาสตร์

ข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ใช้เวลาในการทำข้อสอบ 90 นาที

4. วิชาสังคมศึกษา (Social Studies)

ข้อสอบเน้นการเข้าใจประวัติศาสตร์อเมริกา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม โดยหัวข้อที่ออกสอบ จะมีดังนี้ 

  • Reading for Meaning in Social Studies การอ่านเพื่อความเข้าใจในวิชาสังคมศึกษา
  • Analyzing Historical Events and Arguments in Social Studies การวิเคราะห์เหตุการณ์ และ ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ในวิชาสังคมศึกษา
  • Using Numbers and Graphs in Social Studies ตีความข้อมูลจากตัวเลข กราฟ ตาราง แผนภูมิ  และ สถิติต่าง ๆ ในวิชาสังคมศึกษา

ข้อสอบวิชาสังคมศึกษา ใช้เวลาในการทำข้อสอบ 70 นาที

ระดับคะแนน GED เป็นอย่างไร กี่คะแนนถึงจะถือว่าสอบผ่าน

สำหรับใครที่กำลังวางแผนจะสอบ GED หลายคนอาจสงสัยว่าระดับคะแนน GED เป็นอย่างไร และ กี่คะแนนถึงจะถือว่าสอบผ่าน สำหรับการสอบ GED จะมีคะแนนเต็มวิชาละ 200 คะแนน โดยคะแนนขั้นต่ำที่ควรทำได้จะอยู่ที่ 145 คะแนนขึ้นไป อ้างอิงจากเว็บไซต์หลักของ GED จะมี Scores Level ที่บอกระดับทั้งหมด 3 ระดับ ดังนี้

Scores 145

  • The GED® Passing Score
  • ถ้าคุณได้คะแนนแต่ละวิชา 145-164 คะแนน นั่นหมายความว่าคุณสอบผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ

Scores 165-174

  • GED® College Ready Score Level
  • หากคุณได้คะแนนระหว่าง 165-174 นั่นหมายความว่าคุณมีทักษะที่จำเป็น พร้อมสู่การศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

Scores 175-200

  • GED® College Ready + Credit Score Level
  • หากคุณได้คะแนนระหว่าง 175-200 คะแนน แสดงว่าคุณมีความพร้อมในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย และ อาจได้รับหน่วยกิตในบางวิชาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย เพื่อให้คุณไม่ต้องเรียนในบางรายวิชาที่จำเป็น

แล้วถ้าคะแนน GED ไม่ถึง 145 คะแนน ต้องทำอย่างไร

กรณีสอบ GED แล้วได้คะแนนต่ำกว่า 145 คะแนน สามารถกลับมาสอบใหม่ได้อีก 2 ครั้งติดต่อกัน ในรายวิชาที่สอบไม่ผ่าน กรณีสอบไม่ผ่านทั้งหมด คุณจะต้องสอบใหม่ในทุกวิชา ซึ่งคุณสามารถนัดหมายการสอบครั้งใหม่ได้ทันที แต่ถ้ายังสอบไม่ผ่านภายใน 3 ครั้งแรก คุณจะต้องเว้นระยะการสอบอย่างน้อย 60 วันก่อนที่จะกลับมาสอบครั้งต่อไปได้ และ อีก 60 วัน สำหรับการสอบทุกครั้งหลังจากนั้น

จากตารางนี้ จะเห็นว่า ยิ่งเราได้คะแนน GED มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการนำคะแนนไปยื่นให้กับมหาวิทยาลัยที่เราต้องการได้มากขึ้น ทั้งนี้เกณฑ์ในการรับคะแนน GED ของแต่ละมหาวิทยาลัยอาจกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่สูงกว่านี้ สำหรับเกณฑ์การรับสมัคร สามารถตรวจสอบโดยตรงกับมหาวิทยาลัยที่คุณจะทำการยื่นสมัคร

สมัครสอบ GED

สมัครสอบ GED ได้อย่างไร 

หลังจากที่เราได้ทราบถึงคะแนนสอบ GED ขั้นต่ำที่ควรได้ ไปแล้ว มาถึงวิธีการสมัครสอบ GED กันบ้าง สมัครอย่างไร มีค่าสมัครสอบเท่าไหร่ ไปดูกัน

ขั้นตอนการสมัครสอบ GED

ก่อนอื่นคุณต้องมี GED ID เสียก่อน คลิกสร้าง GED ID ผ่านเว็บไซต์ ged.com ขั้นตอนต่อไปคือ

  • กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ถูกต้อง และ ครบถ้วน และ อย่าลืมเช็กตัวสะกด และ ข้อมูลต่าง ๆ ให้เรียบร้อย แล้วกด Continue
  • เลือกประเทศที่ต้องการสอบ เช่น Thailand แล้วกด continue
  • เลือก I plan to study on my own (Self-study) แปลว่า เลือกที่จะเตรียมตัวสอบด้วยตนเอง แล้วกด continue
  • เสร็จสิ้นขั้นตอนการสร้าง GED ID

ข้อควรรู้ก่อนทำการสมัครสอบ GED

  • ผู้สมัครที่มีอายุระหว่าง 16-17 ปี ต้องมีหนังสือยินยอม (Consent form) จากผู้ปกครอง เพื่อใช้เป็นหลักฐาน และ ส่งไปยัง GED Testing Service เพื่อขอเข้าสอบ
  • ผู้สมัครที่มีอายุ 18 ปี ปีขึ้นไป สามารถสมัครสอบด้วยตัวเองได้ทันที โดยไม่ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง

เมื่อเราสร้าง GED ID เสร็จแล้ว ก่อนที่จะสมัครสอบ GED ของจริง ต้องทำการสมัครสอบ GED Ready ให้ผ่านก่อน สำหรับข้อสอบ GED Ready คือแบบทดสอบเสมือนจริงที่จัดทำโดยทาง GED โดยจะต้องได้คะแนนรายวิชาละ 145 คะแนนขึ้นไป ถึงจะสามารถสอบข้อสอบจริงได้

เมื่อเราสอบผ่านเกณฑ์ของ GED Ready แล้ว ก็มาถึงข้อสอบ GED ของจริง วิธีการคือ เข้าไป log in ในเว็บไซต์ ged.com เลือก schedule test เพื่อเลือกรายวิชาที่ต้องการสมัครสอบ เราสามารถเลือกสอบทีละวิชา หรือสอบพร้อมกันทั้ง 4 วิชาได้ จากนั้นก็เลือก สนามสอบ วัน และ เวลาสอบที่เราต้องการ เช็กข้อมูลทุกอย่างให้เรียบร้อย ก็ทำการชำระค่าสมัครสอบได้เลย ผ่านบัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต โดยระบบจะส่ง e-mail ยืนยันการสมัครสอบ มาให้หลังจากที่เราได้ทำการชำระเงินค่าสมัครสอบเรียบร้อยแล้ว  

ค่าสมัครสอบ GED เท่าไหร่

สำหรับค่าสมัครสอบ GED และ GED Ready มีค่าธรรมเนียม ดังนี้

  • ค่าสมัครสอบ GED Ready รายวิชาละ $6.99 (260 บาท**) และ ถ้าสอบพร้อมกันทั้ง 4 วิชา ค่าธรรมเนียมการสอบจะอยู่ที่ $22.99 (845 บาท**)
  • ค่าสมัครสอบ GED รายวิชาละ $80 (2,940 บาท**) และ ถ้าสอบพร้อมกันทั้ง 4 วิชา ค่าธรรมเนียมการสอบจะอยู่ที่ $320 (11,800 บาท**)

สามารถชำระค่าสอบผ่านบัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต 

**หมายเหตุ ค่าเงินบาทไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวัน

สนามสอบ GED ในประเทศไทย มีที่ไหนบ้าง

ปัจจุบัน สนามสอบ GED ในประเทศไทย มีอยู่ทั้งหมด 9 ที่ ดังนี้ 

สนามสอบ GED เขต กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล

จะมีทั้งหมด 4 แห่งด้วยกัน ดังนี้

  • สถาบันพาราไดม์ อยู่ที่ อาคารอัลม่าลิงค์ ชั้น 2 ชิดลม เบอร์ติดต่อ 02-255-8889, 092-063-5599
  • Pearson Professional Centers อยู่ที่ อาคาร BB Building, ชั้น 10 ใกล้กับอาคาร GMM Grammy Place เบอร์ติดต่อ 02-115-2015, 02-664-3563
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ห้อง 308 ชั้น 3 คณะศิลปศาสตร์  เบอร์โทรติดต่อ : 02-470-8768, 080-963-6015
  • มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ เบอร์ติดต่อ 02-723-2222 062-300-4543

สนามสอบ GED ภาคเหนือ 

จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ที่ ได้แก่สนามสอบที่ เชียงใหม่ และ ตาก ดังนี้

  • Movaci Technology (บริษัท โมวาซี่ เทคโนโลยี จำกัด) จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์ติดต่อ 053-920-555
  • มหาวิทยาลัยพายัพ ชั้น 2 อาคาร Sirindhorn Learning Center จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์ติดต่อ 053-851-478 ต่อ 7419
  • มูลนิธิเดอะเบย์เครือข่ายเพื่อการศึกษา (Thabyay Education) จังหวัดตาก เบอร์ติดต่อ 055-543-731

สนามสอบ GED ภาคอีสาน

เป็นสนามสอบเดียวในภาคอีสาน อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น นั่นก็คือที่ Greater Good Education แก่นนครออฟฟิศพาร์ค ชั้น 3 เบอร์ติดต่อ 080-260-1383 

สนามสอบ GED ภาคใต้

เป็นสนามสอบเดียวในภาคใต้ อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต นั่นก็คือที่ โรงเรียนสอนภาษาภูเก็ตอะคาเดมิคส์ Phuket Academic Language School เบอร์ติดต่อ 081 417 0978

เรียน GED ควบคู่กับการเรียนหลักสูตร ม.ปลาย

แพลนการเตรียมตัวสอบ GED ควบคู่กับ การเรียนหลักสูตร ม.ปลาย

สำหรับใครที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ม.ปลาย สามารถสอบ GED ได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถทำได้ เพียงแค่คุณจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการวางแผนการเรียนที่ดี อาทิ

1. ต้องรู้จักข้อสอบก่อน

ก่อนจะทำการสอบ GED ก็ต้องเข้าใจรูปแบบข้อสอบ GED เสียก่อนว่ามีกี่วิชา แล้วแต่ละวิชามีเนื้อหาอะไร ใช้เวลาสอบนานเท่าไหร่ มีจำนวนข้อสอบกี่ข้อ วิชาไหนง่ายเตรียมน้อย วิชาไหนยากเตรียมเยอะ เพื่อให้เราได้เตรียมตัววางแผนในการอ่านหนังสือสอบ

2. วางแผนการอ่านหนังสือสอบ

เริ่มด้วยการสร้างตารางเรียนที่สมดุลระหว่างหลักสูตร ม.ปลาย และ การเตรียมตัวสอบ GED โดยอาจจะแบ่งเวลาในแต่ละวันหรือสัปดาห์เพื่อทบทวนวิชา GED เนื่องจากการสอบเทียบ GED มีหลากหลายวิชา การทำแพลนเนอร์เพื่อวางแผนในการอ่านหนังสือสอบ จึงสำคัญ 

3. ฝึกทักษะภาษาอังกฤษ

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะข้อสอบ GED เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด การที่คุณมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี จะช่วยทำให้คุณเข้าใจเนื้อหาของข้อสอบได้มากขึ้น

4. ทบทวนเนื้อหาหลักสูตร ม.ปลาย และ เรียน GED เพิ่มเติม

ทบทวนเนื้อหา ม.ปลาย ที่ตรงกับเนื้อหาที่ออกข้อสอบ GED นั่นก็คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา รวมถึง ทบทวนเนื้อหา GED ที่ไม่ได้เรียนในหลักสูตร ม.ปลาย เช่น การเขียนเรียงความ การวิเคราะห์บทความ การใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ

5. ฝึกทำข้อสอบเทียบ GED

การฝึกทำข้อสอบ GED อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทดสอบความรู้ ฝึกฝนเทคนิคการทำข้อสอบ และ จับเวลา จะช่วยให้คุณคุ้นเคยกับรูปแบบข้อสอบ และ เพิ่มความมั่นใจในวันสอบจริง ไม่เพียงเท่านี้ การฝึกทำข้อสอบเทียบ GED ยังเป็นการทบทวนเนื้อหาไปในตัว

จบ ม.ปลาย ใน 1 ปี ทำได้จริง ด้วยการสอบ GED หากใครที่สนใจอยากสอบ GED อย่างมั่นใจ ขอแนะนำ GED Fast Track จาก InterPass คอร์สเรียน GED สุดเข้มข้น คุ้มครบเข้ม 4 วิชา Language Arts, Social Studies, Science, Math กว่า 120 ชม. ให้คุณได้ Pass ชั้นก่อนเพื่อน ติดมหาวิทยาลัยก่อนใคร พร้อมข้อสอบ GED Ready 28 ชุด ให้ฝึกทำโจทย์ ครบทุกวิชา และ บริการที่ปรึกษา ที่คอยให้คำแนะนำ ตลอดการเรียน การสอบ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์และสนามสอบ ielts ในไทย

Date : May 7, 2024

You May Like