สำหรับน้องๆ ที่อยากสอบเทียบ GED (General Educational Development) ให้ผ่านตั้งแต่ครั้งแรก เป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะสามารถเลือกสอบได้ทีละวิชา ไม่ต้องสอบทีเดียวพร้อมกัน ดังนั้นพร้อมวิชาไหนก่อน ก็ทยอยไล่เก็บคะแนนได้เลย ทีนี้อาจจะสงสัยว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ได้ GED Certificate พี่ๆ จาก InterPass ได้นำเทคนิคและวิธีการทำข้อสอบแต่ละพาร์ท เพื่อให้ผ่านฉลุยมาฝาก

สอบเทียบ GED คืออะไร มีวิชาอะไรบ้าง
การสอบเทียบ GED หรือ General Educational Development Test คือ การสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย ในระบบอเมริกัน ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ถ้าเป็นในประเทศไทยก็คือการสอบเทียบเพื่อให้จบชั้น ม.6 โดยผู้ที่จะสามารถสอบได้ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับหรือไม่ได้อยู่ ก็สามารถสมัครสอบได้
การสอบเทียบ GED จะต้องสอบทั้งหมด 4 วิชา คือ
- Reasoning Through Language Arts (RLA)
- Mathematical Reasoning
- Science
- Social Studies
การสอบ GED เป็นข้อสอบที่ออกโดย GED Testing Service จากอเมริกา และข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่ละพาร์ทจะเทียบเท่ากับความรู้ระดับชั้น ม.ปลาย เมื่อสอบผ่าน ครบ 4 วิชาแล้ว สามารถนำไปยื่นเพื่อสมัครสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศได้

เทคนิคพิชิตข้อสอบ Reasoning Through Language Arts (RLA)
RLA คือ การสอบวิชาภาษาอังกฤษของการสอบเทียบ GED มีข้อสอบทั้งหมด 3 ส่วน ประกอบไปด้วย การอ่าน (Reading) การเขียนเรียงความ (Extended Response) และหลักไวยากรณ์และโครงสร้างของภาษาอังกฤษ (English Convention) มีรูปแบบข้อสอบการเขียนเรียงความ ปรนัยและคำถามประเภทอื่นๆ ใช้เวลาในการสอบรวม 150 นาที
- การอ่าน (Reading): ข้อสอบจะรวมการอ่านและการเขียนเข้าด้วยกัน โดยวิธีการทำ คือ ต้องอ่านบทความให้ครบถ้วนก่อน แล้วจึงค่อยสรุปเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งตัวข้อสอบจะวัดว่า น้องๆ เข้าใจในบทความนั้นแค่ไหน
- การเขียนเรียงความ (Extended Response): ข้อสอบจะเป็นการนำ 2 บทความที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามมาให้เราอ่าน จึงควรอ่านแล้วคิดให้เป็นกลางที่สุด ให้ดูว่าข้อโต้แย้งถูกต้องและเพียงพอหรือไม่ ไม่ใช่คิดเห็นตามข้อโต้แย้ง และเพื่อให้ได้คะแนนดี เวลาตอบควรอ้างอิงข้อความนั้นก่อน แล้วค่อยตามด้วยคำตอบของตัวเองอีกที
- หลักไวยากรณ์และโครงสร้างของภาษาอังกฤษ (English Convention): ข้อสอบจะเป็นการวัดทักษะทางไวยากรณ์พื้นฐาน สิ่งที่ควรสังเกต คือ เครื่องหมายจุลภาค (,) ซึ่งจะช่วยในการแยกแยะว่า เนื้อหาส่วนใดเป็นส่วนขยาย และส่วนไหนเป็นประโยคหลัก

เทคนิคพิชิตข้อสอบ Mathematical Reasoning
Mathematical Reasoning ของการสอบเทียบ GED คือ การสอบวิชาคณิตศาสตร์ ประกอบไปด้วย พีชคณิต (Algebra) เรขาคณิต (Geometry) กราฟและฟังก์ชัน (Graphs and Function) การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Basic Data Analysis) โดยส่วนที่ 1 ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข ส่วนที่ 2 อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขได้ ใช้เวลาในการสอบรวม 115 นาที โดยเทคนิคในการทำข้อสอบ แต่ละพาร์ต มีดังนี้
- พีชคณิต (Algebra): คิดแบบย้อนกลับ ก็เป็นการตรวจคำตอบของตัวเองได้ ถ้าไม่รู้วิธีตอบโจทย์ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เหมือนกัน ถ้าไม่แน่ใจกับโจทย์พีชคณิตแบบปรนัย แทนที่จะเลือกคำตอบสำหรับตัวแปรในสมการ อาจจะทำให้รวดเร็วกว่าได้ด้วยการใช้เครื่องคิดเลข
- เรขาคณิต (Geometry): เลือกว่าจะจำสูตรอะไร ไม่จำเป็นต้องจำทุกสูตร หรืออาจจะแค่จำนวนเฉพาะและกำลังสองของตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 15 จะได้ไม่ต้องพึ่งเครื่องคิดเลขให้เยอะ
- กราฟและฟังก์ชัน (Graphs and Function): อ่านก่อนว่าโจทย์เกี่ยวข้องกับอะไร ดูคำตอบว่าเป็นเศษส่วน อัตราส่วนหรือเปอร์เซ็นต์ ถ้ารู้รูปแบบของคำตอบก็จะช่วยให้คำนวณได้ง่ายขึ้น
- การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Basic Data Analysis): คิดแบบง่ายๆ ดีที่สุด ถึงแม้ว่าข้อนั้นจะมีวิธีคิดหลายวิธีก็ตาม เพราะยังไงคำตอบก็ออกมาเหมือนกันอยู่ดี

เทคนิคพิชิตข้อสอบ Science
Science การสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ของการสอบเทียบ GED ประกอบไปด้วยการอ่านบทความภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การออกแบบและทดลองทางวิทยาศาสตร์ การอ่านตัวเลขและกราฟที่เกี่ยวข้องกับวิชาวิทยาศาสตร์ (Using Numbers and Graphics in Science) อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขได้ ใช้เวลาในการสอบรวม 90 นาที
- การอ่านตัวเลขและกราฟที่เกี่ยวข้องกับวิชาวิทยาศาสตร์ (Using Numbers and Graphics in Science): หาข้อมูล ในกราฟและตารางก่อน เพียงรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขแล้วก็ไม่จำเป็นต้องแก้โจทย์ทั้งหมด เท่านี้ก็จะช่วยให้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของตัวแปรที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้น
- การออกแบบและทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Designing and Interpreting Science Experiments): คิดให้เหมือนนักวิทยาศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลมาสร้างข้อสรุป ทบทวนการทดลอง ให้ถี่ถ้วน หาสมมติฐาน ตัวแปร ข้อผิดพลาดและอื่นๆ
- การอ่านบทอ่านภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ (Reading for Meaning in Science): ใช้คำถามมาเป็นแหล่งข้อมูล โฟกัสที่ภาพใหญ่สุด อย่าหลุดประเด็นไปกับรายละเอียดพื้นฐานของหัวข้อ

เทคนิคพิชิตข้อสอบ Social Studies
การสอบวิชาสังคมศาสตร์ของการสอบเทียบ GED ประกอบไปด้วย การเมืองและการปกครอง (Civics and Government) ประวัติศาสตร์อเมริกา (U.S. History) เศรษฐศาสตร์ (Economics) ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์โลก (Geography and the World) ใช้เวลาในการสอบรวม 70 นาที
- การเมืองและการปกครอง (Civics and Government): เทคนิคในการทำ คือ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจประเด็นทางการเมืองที่ซับซ้อนหรือจดจำข้อเท็จจริงทุกอย่างเกี่ยวกับรัฐบาล เพียงทำความคุ้นเคยกับโครงสร้างของรัฐบาลพอ
- ประวัติศาสตร์อเมริกา (U.S. History): ชื่อเหตุการณ์หรือวันที่ ไม่สำคัญเท่าการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และตีความเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ระบุความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ต่างๆ ได้
- เศรษฐศาสตร์ (Economics): ไม่ต้องไปกังวลกับการท่องจำให้มากมาย และไม่จำเป็นต้องเข้าใจทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ด้วย แค่สามารถอ่านชุดข้อมูล ตัวเลข และกราฟได้ ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างสาเหตุและความสัมพันธ์กับระหว่างตัวแปรตามและตัวแปรอิสระ ใช้คำศัพท์ทางสถิติ เช่น มัธยฐาน (Median) ค่าเฉลี่ย (Average) และฐานนิยม (Mode) ให้เป็น
- ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์โลก (Geography and the World): เทคนิคในการทำ คือ ต้องสามารถรับรู้มุมมองของผู้เขียนและเหตุผลที่เป็นไปได้ แยกข้อเท็จจริง ความเห็นและโฆษณาชวนเชื่อออกจากกันได้ ใช้หลักฐานเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นไปได้

การเตรียมตัวก่อนสอบเทียบ GED
สำหรับการสอบเทียบ GED ที่มีหลายวิชาแถมยังเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด บางคนอาจจะถอดใจไปแล้ว แต่ถ้ามีเทคนิคและเตรียมตัวก่อนสอบ GED เป็นอย่างดี น้องๆ ทุกคนจะมีโอกาสสอบผ่านได้อย่างง่ายดายแน่นอน
- ทำแพลนเนอร์วางแผนการอ่านหนังสือสอบ
เนื้อหาของการสอบเทียบ GED มีหลากหลายวิชา การทำแพลนเนอร์เพื่อวางแผนสำหรับอ่านหนังสือสอบ จึงมีประโยชน์มากๆ เราจะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวทำอะไร อ่านอะไรบ้างในแต่ละวัน เป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเวลาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ แพลนเนอร์ยังเอาไว้ดูความเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้อีกด้วย ว่าถ้าทำตามแผนที่วางไว้แล้วน้องๆ จะเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่เคยวางแผนไว้ไหม ถ้าโอเคแล้วก็ลุยต่อไปเลย แต่ถ้าไม่ดีก็ค่อยเปลี่ยนแผนใหม่อีกที
- ฝึกทำข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ
ถัดจากการอ่านหนังสือสอบแล้ว การฝึกทำข้อสอบเทียบ GED ก็สามารถเป็นตัววัดผลได้อย่างดีว่าเนื้อหาที่เราอ่านมาตลอด เราเข้าใจในเนื้อหามากแค่ไหน เป็นการทบทวนและวัดความรู้ของน้องๆ ไปในตัว ถ้ามีเวลาพอสมควร อยากให้น้องๆ ได้ลองฝึกหัดทำข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสามครั้ง ใช้ตัวอย่างข้อสอบจากช่องทางออนไลน์หรือที่ผู้สอนรวบรวมจัดทำไว้ก็ได้
- บริหารจัดการเวลาสอบให้ดี
ก่อนสอบเทียบ GED ควรกำหนดเวลาล่วงหน้าสำหรับตอนทำข้อสอบแต่ละข้อ หลังจากตอบคำถามทุกสองสามข้อแล้ว ให้ดูเวลาว่ายังทันตามที่กำหนดเวลาเอาไว้หรือเปล่า อย่าจมอยู่กับคำถามที่ไม่รู้ ข้ามไปทำข้อต่อไปเลย ในทางกลับกัน ไม่ควรเร่งรีบกับคำถามที่คิดว่ารู้แล้ว อย่างน้อยควรอ่านสองครั้งแล้วเลือกคำตอบที่ดีที่สุด
- อ่านคำถามและคำตอบอย่างละเอียดรอบคอบ
น้องๆ ควรอ่านคำถามและคำตอบทั้งหมดอย่างละเอียด อย่าให้พลาดแม้แต่ตัวเดียว บางคำถามอาจต้องการการวิเคราะห์ คำตอบที่ผิดบางข้ออาจดูเหมือนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง บ่อยมากข้อสอบจะใส่คำตอบที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อหลอกให้น้องๆ เลือก อย่าตกหลุมพรางนี้เด็ดขาด นอกจากนี้ อาจมีคำตอบที่ถูกมากกว่าหนึ่งข้อ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เรื่องสุขภาพเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่าหักโหมอ่านหนังสือและทบทวนจนดึกเกินไป จัดเวลาในการอ่านหนังสือกับเวลาพักให้ชัดเจน เวลานอนควรนอนวันละ 7-9 ชั่วโมง ไม่นอนดึกและตื่นเช้าเพื่อให้ตัวเองสดชื่นในทุกวัน
ส่วนช่วง 1 อาทิตย์ก่อนสอบ น้องๆ ควรหาเวลาพักผ่อนสมองและให้รางวัลกับตัวเองบ้าง ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น การดูหนัง ดูซีรีส์ หรือออกไปเที่ยว ทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง เพื่อไม่ให้กดดันและตึงเครียดจนเกินไป ถ้าร่างกายเราแข็งแรง สมองปลอดโปร่ง วันสอบจริงก็ไม่ต้องกลัวว่าทุกอย่างที่น้องๆ อ่านและทบทวนมาจะเสียเปล่า

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการสอบเทียบ GED
ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้เกี่ยวกับการสอบเทียบ GED นอกจากเป็นการสอบเทียบให้ได้วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ ม.6 ไปยื่นเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เราก็ควรรู้ด้วยว่าสามารถไปยื่นที่ไหนได้ หากสอบไม่ผ่านควรทำอย่างไร หรือสอบผ่านแล้วอยากสอบซ้ำให้คะแนนดีขึ้นจะทำได้ไหม?
- ผลสอบเทียบ GED สามารถยื่นสมัครสอบที่ไหนได้บ้าง
ถ้าน้องๆ สนใจนำผลสอบเทียบ GED ไปยื่นสอบเข้ากับมหาวิทยาลัยในไทย สามารถใช้ยื่นได้ในหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น และคณะที่รับผลสอบก็มีหลายคณะด้วยกัน เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ISE, SIIT, TEP/TEPE, SIIE) คณะอักษรศาสตร์ (BALAC) คณะนิติศาสตร์ (LL.B., LL.Bel.) คณะเศรษฐศาสตร์ (BE, EBA) คณะศิลปกรรมศาสตร์ (BAS,BEC) คณะวิทยาศาสตร์ (BAScii, BBTech) และอีกหลายคณะ
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ยื่นคณะ หรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้เช่นกัน โดยมากมักกำหนดว่าต้องมีคะแนนภาษาอย่าง IELTS เพื่อประกอบการยื่นสมัครเข้าศึกษาต่อด้วย ถ้าน้องๆ สนใจมหาวิทยาลัยไหนและคณะไหน ก็สามารถไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้เลย
- หากสอบเทียบ GED ไม่ผ่าน สามารถสมัครสอบใหม่ได้หรือไม่
หากสอบเทียบ GED ไม่ผ่าน หรือได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ จะทำอย่างไร น้องๆ ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถจองสอบใหม่ได้ทันที (สอบใหม่ได้สูงสุด 3 ครั้งต่อ 1 วิชา) หากครั้งที่ 4 ยังไม่ผ่านอีก จะต้องเว้นการสอบเป็นระยะเวลา 60 วัน และหากในครั้งที่ 5 หรือครั้งถัดๆ ไป ยังไม่ผ่านอีก จะต้องเว้นไปเรื่อยๆ ครั้งละ 60 วัน
- หากสอบผ่านแล้วแต่ต้องการสอบใหม่เพื่ออัปคะแนน ทำได้หรือไม่
หากน้องๆ สอบผ่านแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบใหม่อีกครั้ง เพราะการสอบเทียบ GED มีเกณฑ์วัดแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน เมื่อสอบผ่านแล้วสามารถเตรียมยื่นสมัครเรียนมหาวิทยาลัยได้เลย
การสอบ GED คือ การสอบเทียบวุฒิระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถนำผลสอบที่ผ่านไปยื่นเพื่อสมัครสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศได้ มีการสอบทั้งหมด 4 วิชา คือ Reasoning Through Language Arts RLA (ภาษาอังกฤษ) Science (วิทยาศาสตร์) Social Studies (สังคมศาสตร์) Mathematical Reasoning (คณิตศาสตร์) น้องๆ ที่อยากสอบเทียบ GED ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยตัวข้อสอบจะมีเกณฑ์วัดคะแนนแค่ผ่านและไม่ผ่าน แต่ถ้าสอบไม่ผ่านสามารถจองสอบใหม่ได้ ทั้งนี้ ถ้าอยากสอบผ่านตั้งแต่ครั้งแรกจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวก่อนสอบให้ดี ตั้งแต่ทำแพลนเนอร์วางแผนการอ่านหนังสือสอบ ฝึกทำข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ บริหารจัดการเวลาสอบให้ดี อ่านคำถามและคำตอบอย่างละเอียดรอบคอบ ไปจนถึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือถ้าอยากให้การเตรียมตัวก่อนสอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พี่ๆ ขอแนะนำให้เรียนคอร์ส GED Fast Track กับ InterPassขึ้น พร้อมที่จะไปสอบ GED อย่างมั่นใจ สอบถามรายละเอียด GED ได้ทาง Line @interpass หรือโทร. 089-9964256, 089-9923965