Homeschool คือ การที่ผู้ปกครองจัดการเรียนการสอนเอง หรือซื้อหลักสูตรจากต่างประเทศ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ และสามารถผลักดันศักยภาพของผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งถือเป็นอีกเทรนด์การศึกษาที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน
บทความนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับข้อดี Homeschool และหากอยากจัดการเรียนการสอนแบบ Homeschool จะเริ่มยังไงบ้าง? มีสิ่งไหนที่ต้องให้ความสำคัญ และควรออกแบบหลักสูตรอย่างไร? ไปดูกันเลย!
เจาะให้รู้จริง สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจเริ่มเรียน Homeschool
การเรียนแบบ Homeschool ในมุมมองสมัยก่อนอาจมองว่าเป็นการเรียนสำหรับเด็กพิเศษ หรือเด็กที่ต้องการการดูแลมากกว่าคนอื่นๆ แต่ที่ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนรูปแบบนี้ในประเทศไทยสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในระดับมหาวิทยาลัยนั้น ยังไม่ได้รับอนุญาต จึงจำเป็นต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่อไป
สำหรับผู้ปกครอง หรือน้องๆ ที่อยากปรับมาเรียนรูปแบบนี้ คงกำลังสงสัยว่า Homeschool ต้องเริ่มยังไง? มาดูกันว่า ในการจัดการเรียนการสอนต้องคำถึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง
เป้าหมาย
หากต้องการเริ่มเรียน Homeschol จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน โดยสำรวจความต้องการของผู้เรียนว่า อยากเรียนแบบไหน โดยอาจเน้นไปที่การเรียนรู้ เพื่อมุ่งสู่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลย หรือเน้นการเข้าสังคม หรือต้องการให้เรียนตามหลักสูตรทั่วไป
ทั้งนี้ เป้าหมายของการเรียนแบบ Homeschool ของคนส่วนใหญ่ คือ การประหยัดเวลา ใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่า มุ่งตรงสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยหลุดจากกรอบของการศึกษาแบบเดิมๆ นั่นเอง
เวลา
เวลาถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยการเรียนแบบ Homeschool สามารถจัดสรรเวลาได้ตามสะดวก แต่ก่อนที่จะมาเริ่มเรียน Homeschool นั้น จะต้องมีการวางแผนหลักสูตรกันก่อนว่า ต้องการหลักสูตรที่เน้นความถนัดในด้านใด เป้าหมายของผู้เรียนคืออะไร จากนั้นให้เวลากับการเตรียมเอกสารประกอบการเรียนการสอน รวมถึงการจัดสรรเวลาสอน และเวลาให้เด็กๆ ได้ทบทวนความรู้ที่ได้เรียนไปอีกด้วย
อายุ
การศึกษาภาคบังคับของไทยกำหนดไว้ให้เด็กๆ ต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มต้นที่ระดับชั้นประถมศึกษา แต่โดยส่วนมากในปัจจุบัน ผู้ปกครองมักต้องการให้ลูกเริ่มเรียนแบบ Homeschool ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลยก็ได้ ซึ่งการเริ่มต้นเรียน Homeschool ในระดับอนุบาลเป็นการศึกษาแบบทางเลือก คือ สามารถทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองนั่นเอง สำหรับการจดทะเบียนระดับอนุบาล ลูกจำเป็นต้องมีอายุครบ 3 ปีขึ้นไปเท่านั้น
สถานที่
การเลือกสถานที่ที่เหมาะสมกับการเรียนเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเริ่ม Homeschool เพราะบรรยากาศในห้องจะเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงสมาธิของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ควรจัดห้องให้เป็นเหมือนห้องเรียน หรือตกแต่งให้ภายในห้องมีบรรยากาศคล้ายกับห้องสมุด ที่ชวนให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลาย และทำให้อยากนั่งในห้อง รวมถึงควรเลือกมุมที่เงียบสงบที่สุดในบ้านในการจัดการเรียนการสอน
วินัย
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบไหน การมีวินัยทางการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา ซึ่งสำหรับการศึกษาแบบ Homeschool ผู้ปกครองถือว่าเป็นกำลังสำคัญหลักในการกวดขันวินัยทางเรียนของเด็กๆ เนื่องจากผู้ปกครองจะมีส่วนในการตัดสินใจกับเนื้อหา รูปแบบการเรียน และช่วงเวลาที่เรียน ดังนั้น หากผู้ปกครองหละหลวมไป ลูกก็จะไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ หรือขาดวินัยในการเรียนได้
ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากในการเริ่ม Homeschool ซึ่งจะไม่มีตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ตายตัว เนื่องจากแต่ละครอบครัวก็มีการวางแผนการเรียนที่แตกต่างกัน บางครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจที่จะเป็นคุณครูเอง บางคนก็ตัดสินใจหาติวเตอร์ส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งขอแนะนำให้จดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาให้ถูกต้อง เพราะทางรัฐบาลจะสนับสนุนการศึกษาให้กับผู้ปกครองตามเกณฑ์ โดยประมาณ ดังนี้
- ระดับชั้นอนุบาล 8,000-9,000 บาทต่อปี
- ระดับประถมศึกษา 9,000-10,000 บาทต่อปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 10,000-13,000 บาทต่อปี
- ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 13,000-14,000 บาทต่อปี
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการสอบขอวุฒิการศึกษาในต่างประเทศ โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้
- วุฒิการศึกษาเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของสหรัฐอเมริกา GED มีค่าสอบประมาณ 2,765 บาทต่อวิชา และจำเป็นต้องสอบทั้ง 4 วิชา ซึ่งจะมีค่าขอเอกสารวุฒิและทรานสคริปต์อีกประมาณ 4,060 บาท
- วุฒิการศึกษาเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของอังกฤษ IGCSE & A Level ค่าสมัครสอบแต่ละวิชา ประมาณ 5,000-12,000 บาทต่อวิชา ซึ่งแต่วิชาจะมีค่าสอบไม่เท่ากัน
กฎหมาย
สำหรับการเรียน Homeschool ในประเทศไทยนั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการศึกษาที่ถูกต้องตามกฎหมาย อ้างอิงจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งระบุว่าผู้ปกครองที่ต้องการจัดการเรียนการสอนแบบ Homeschool ก็สามารถทำได้ โดยต้องยื่นจดทะเบียนที่เขตพื้นที่การศึกษา และเมื่อจบการศึกษาในแต่ละระดับชั้น ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาเหมือนกับการศึกษาภาคปกติทั่วไป
มาดูสเต็ปการเตรียมตัว Homeschool เริ่มยังไงให้เป๊ะปัง
เมื่อรู้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเรียน Homeschool เรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปคือ การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มเรียน เพราะการเรียนรูปแบบนี้จะต้องวางแผนการเรียนให้ดีก่อน เพื่อจะได้โฟกัสให้ถูกจุด มาลองดูสเต็ปการเตรียมตัวเข้าเรียน Homeschool กันว่าต้องเริ่มยังไง ถึงจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ!
ตั้งเป้าหมาย
เป้าหมายของการเรียน Homeschool คืออะไร? เป็นคำถามหลักที่ต้องคิดก่อนวางแผนหลักสูตร เพราะการเริ่มเรียน Homeschool นั้นไม่ได้มีการกำหนดภาคเรียนแบบตายตัว เน้นไปที่ผลลัพธ์ของการเรียนว่า เรียนแล้ว เป็นไปตามแผนที่ต้องการหรือไม่ เช่น ตั้งเป้าหมายเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ISE) จะต้องใช้วุฒิ และเกณฑ์อย่างไร ก็ให้น้องๆ เน้นเรียนเพื่อให้มีคุณสมบัติที่มหาวิทยาลัยต้องการได้เลย
ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการสอบหรือเรียนข้ามชั้นว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องการวุฒิการศึกษาแบบไหน เช่น ต้องการ GED, A-LEVEL, IGCSE หรือต้องใช้คะแนน GPAX ของหลักสูตรไทย เป็นต้น เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมได้อย่างครบถ้วน
เลือกรูปแบบการเรียนและหลักสูตรที่ต้องการ
สเต็ปถัดมาในการเริ่ม Homeschool คือ การเลือกรูปแบบการเรียนและหลักสูตรที่ต้องการ การเรียนแบบ Homeschool มีหลายรูปแบบให้น้องๆ ได้เลือกเรียนตามความชอบ ได้แก่
- เรียนเองในบ้าน เหมาะสำหรับน้องๆ ที่ต้องการความสงบ และความเป็นส่วนตัวในการเรียน การเรียนเองในบ้านช่วยอำนวยความสะดวกสบายในเครื่องของสถานที่ ประหยัดเวลาในการเดินทางอีกด้วย
- เรียนแบบกลุ่ม เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กลุ่มครอบครัวที่ทำ Homeschool ซึ่งจะเป็นการสอนตามแต่ละครอบครัว แต่ว่าจะมีการจัดกิจกรรม หรือรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในบางครั้งตามความเหมาะสม
- เรียนในศูนย์การเรียนรู้ เป็นรูปแบบคล้ายๆ กับการเรียนแบบกลุ่ม แต่เป็นการรวมกลุ่มของครอบครัวที่ทำ Homeschool ที่มีจำนวนมากกว่าแบบกลุ่ม และต้องการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยที่กลุ่มผู้ปกครองจะช่วยกันปรึกษาหารือ รวมถึงการกำหนดวิธีการจัดการเรียนการสอนที่คิดว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเด็กๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมที่ฝึกทักษะชีวิต ทักษะการเข้าสังคมอีกด้วย
- การเรียนร่วมกับทางโรงเรียน ผู้ปกครองจะเป็นผู้สอน แต่ว่ามีการตกลงร่วมกับทางโรงเรียนว่าน้องๆ จะเป็นเด็กนักเรียนในสังกัดโรงเรียน แต่เป็นการเรียนแบบ Homeschool โดยในส่วนของการวัดและประเมินผล ผู้ปกครองจะทำร่วมกับทางโรงเรียน และน้องๆ จะได้รับใบรับรองผลจากทางโรงเรียน รวมถึงได้รับโอกาสในการเข้ากิจกรรมทางสังคมอีกด้วย เช่น การเดินทางไปทัศนศึกษาร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ
- Homeschool ทางไกล เป็นการเรียนตามตำราของโรงเรียนทางไกลที่สมัคร ทำการทดสอบและประเมินผลตามเกณฑ์ของโรงเรียนนั้นๆ สำหรับการเรียนทางไกลของประเทศไทยนั้น จะเปิดสอน Homeschool ทางไกลให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยเปิดลงทะเบียนเข้าสมัครเป็นนักศึกษาใหม่ปีละ 2 ครั้งในเดือนเมษายนและตุลาคม และสำหรับการเรียนทางไกลของต่างประเทศ จะเรียนตามหลักสูตรออนไลน์ของต่างประเทศ ผู้ปกครองสามารถค้นหาข้อมูลและติดต่อกับทางสถานศึกษาต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งจะได้รับ Accreditation แบบเดียวกับโรงเรียนนานาชาติ
ยื่นขอจดทะเบียน
เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเริ่มทำ Homeschool เลยก็ว่าได้ ให้ทำการยื่นขอจดทะเบียนแบบถูกต้องตามสถานที่ที่กำหนด ซึ่งในแต่ละระดับชั้นเรียน ก็จะต้องไปยื่นจดทะเบียนตามแต่ละสถานที่ ได้แก่
- ระดับชั้นอนุบาล เนื่องจากระดับอนุบาลไม่ได้เข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นสามารถเลือกได้ว่าต้องการจดทะเบียน หรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ซึ่งหากต้องการจดทะเบียน สามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
- ระดับชั้นประถมศึกษา จำเป็นต้องยื่นจดทะเบียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป โดยสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
- ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หรือในกรณีที่จัดการศึกษาต่อนื่องมาจากระดับประถมศึกษา จะสามารถยื่นได้ที่ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาได้
- ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
โดยการจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา ทางผู้ปกครองต้องเขียนแผนการเรียนไปยื่น เพื่อขอจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ 2 ครั้งต่อปีอีกด้วย และเมื่อจดทะเบียนเรียนร้อยแล้ว สามารถดำเนินการสอน Homeschool ได้ตามสมควร แต่ต้องมีการนำส่งแฟ้มสะสมผลงานรายปีและมีการประเมินผลทุกปี
ออกแบบและเขียนแผนการศึกษา
เนื่องจากต้องมีการนำส่งแฟ้มสะสมผลงานที่มีการรวบรวมผลงาน และกิจกรรมต่างๆ ที่น้องๆ ได้เคยทำ เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทำการประเมินทุกปี ดังนั้น ในการวางแผนการศึกษา ผู้ปกครองจำเป็นต้องทำแผนการศึกษาในแต่ละระดับชั้น เช่น ระดับประถมศึกษา ก็จะทำแผนการศึกษาเพียงครั้งเดียว โดยสามารถใช้ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 – ป.6 ได้เลย ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่ควรระบุในการเขียนแผนการศึกษา มีดังนี้
- องค์ความรู้และขอบเขตเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งต้องไม่แตกต่างจากหลักสูตรในโรงเรียน
- มีกระบวนการการเรียนรู้ และวิธีการจัดการการเรียนรู้ โดยสามารถเลือกวิธีจัดการเรียนรู้ได้ตามแต่ละครอบครัว
- มีการเสริมสร้างการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน สนับสนุนให้เด็กๆ ได้สัมผัสชีวิตโลกภายนอก รวมทั้งได้ค้นคว้า และสำรวจสถานที่นอกห้องเรียน เช่น การจัดทัศนศึกษา
- มีการเข้าร่วมกลุ่ม Homeschool เช่น การจัดค่าย การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกการเข้าสังคม
จัดตารางเวลา
การจัดตารางเวลาถือว่าเป็นหัวใจหลักของการเรียน Homeschool เลยก็ว่าได้ เพราะเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้การเรียน Homeschool นั้นได้รับความนิยมก็คือ ความเป็นอิสระ เลือกเรียนตามที่จำเป็น สามารถกำหนดระยะเวลาเรียนเองได้ โดยสิ่งสำคัญในการจัดตารางเวลาเรียน คือ กำหนดเวลาเรียนที่เหมาะสมกับตัวผู้เรียน เพราะหากเรียนนานเกินไป ก็จะรู้สึกเครียด กดดัน ที่สำคัญควรมีการวางแผนการเรียนตามความถนัด หรือสอดคล้องกับลักษณะนิสัยของเด็กด้วยว่า น้องๆ มีความสามารถในการโฟกัสการเรียนได้นานเท่าไหร่? ให้มองที่ประสิทธิภาพการเรียนเป็นหลัก เรียนอย่างไร กี่ชั่วโมงต่อวัน ถึงจะดีกับตัวผู้เรียน? เพราะการเรียนที่ดี คือการเรียนที่มีคุณภาพ มีความเข้าใจ ดีกว่าเลือกเรียนนานๆ แล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
หาตัวช่วยเสริมวินัย
Homeschool เป็นการเรียนที่เน้นผู้เรียนและผู้ปกครองเป็นหลัก ไม่ได้มีบุคคลภายนอก หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในโรงเรียน ดังนั้น ระเบียบวินัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการเริ่ม Homeshcool ผู้ปกครองควรหาตัวช่วยเพื่อเสริมวินัยของน้องๆ เช่น มีการพูดคุยเพื่อกำหนดกฎระเบียบต่างๆ โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเหตุผล มีอิสระแต่มีขอบเขตตามสมควร และหลังปฏิบัติได้ตามกฎที่กำหนด ก็ควรให้รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจ ทำให้น้องๆ รู้จักการมีวินัย และปฏิบัติจนเป็นนิสัย
หาสังคม
การหาสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กในการฝึกเข้าสังคม เพราะในอนาคตเด็กๆ ก็จะต้องไปเรียน ทำงาน และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ดังนั้น ทักษะการเข้าสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ สำหรับผู้ปกครองที่กังวลว่าการเรียนแบบ Homeschool ทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีการเข้าสังคม กลายเป็นคนที่ไม่ชอบสุงสิงกับใคร
ในการเริ่ม Homeschool แนะนำให้ผู้ปกครองหมั่นพูดคุยกับลูก และหากิจกรรมให้เด็กๆ ได้ลองไปเข้ารู้จักสังคมให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเล่นกับเด็กๆ ในพื้นที่ใกล้บ้าน การไปเรียนแบบกลุ่มเล็กๆ การพาเด็กไปเรียนดนตรี ศิลปะ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสฝึกทักษะในการเข้าสังคมกับบุคคลอื่นๆ มากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้สามารถรับมือกับความขัดแย้งได้ ซึ่งถือเป็นอีกทักษะที่มีความสำคัญกับคนในทุกวัยอีกด้วย
อย่าลืมจัดเก็บผลลัพธ์และสะสมผลงาน
สิ่งที่สำคัญของการเรียน Homeschool คือ การสะสมผลงานที่เคยทำมา เพราะว่าจะเป็นหลักฐานที่สำคัญในการประเมินผลรายปีของนักเรียน โดยทางเขตพื้นที่การศึกษาจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินที่บ้าน หรือนัดวันเข้าไปประเมินผลที่เขตพื้นที่การศึกษา การมีผลลัพธ์และผลงานที่ชัดเจน จะทำให้การประเมินผลตัวผู้เรียนง่ายยิ่งขึ้น
10 ข้อดีของ Homeschool
หลังจากที่ได้รู้กันไปแล้วว่าสิ่งที่ต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจเรียน Homeschool มีอะไรบ้าง? และเรียนแบบ Homeschool ต้องเริ่มยังไง? มาลองดู 10 ข้อดีของการเรียนแบบ Homeschool กันว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง?
เรียนได้ตรงจุดและตรงตามต้องการ
ข้อดีอันดับแรกของการเรียนแบบ Homeschool นั้น คือ ทำให้ได้เรียนแบบตรงจุด เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ เนื่องจากเป็นการเรียนที่เน้นตัวผู้เรียนเป็นหลัก จึงหมดปัญหาของการเรียนตามเพื่อนไม่ทัน หรือว่าฟังครูสอนไม่ทันในห้องเรียน น้องๆ สามารถจัดการเรียนได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเรียน Homeschool แบบเดี่ยว หรือการเรียนเป็นกลุ่ม เป็นต้น
2. รูปแบบและหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น ทันสมัย
ข้อดีข้อที่ 2 ของการเรียนแบบ Homeschool คือ มีหลายรูปแบบและเป็นหลักสูตรที่สามารถยืดหยุ่น ทันสมัย เนื่องจากการเรียน Homeschool จะโฟกัสไปที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก เด็กบางคนอาจเรียนรู้ได้ดีผ่านการทำกิจกรรม มากกว่าการท่องหนังสือ ซึ่งการเรียนแบบ Homeschool สามารถปรับแผนการเรียนโดยเน้นกิจกรรมสอดแทรกความรู้ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับการเรียนในโรงเรียนที่ไม่สามารถปรับแผนการสอนตามความถนัดของเด็กได้ทุกคน
3. ค้นพบตัวเองได้แบบไม่มีอะไรกั้น
การเรียนแบบ Homeschool ช่วยให้น้องๆ ได้พัฒนาตนเอง และมองข้ามกรอบเดิมๆ เนื่องจากการเรียนแบบ Homeschool สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ เวลา รวมถึงแผนการเรียนได้ จึงทำให้เด็กๆ รู้จักยืดหยุ่น และพร้อมที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้เด็กมีพัฒนาการ และค้นพบความชอบของตนเองได้โดยที่ไม่มีอะไรมาปิดกั้น
4. ผู้ปกครองเห็นพัฒนาการเด็กๆ ได้ชัดเจน
ข้อดีอีกอย่าง คือ ผู้ปกครองเห็นพัฒนาการของเด็กได้อย่างชัดเจน เพราะการเรียน Homeschool เป็นการเรียนที่เรียนในบ้าน มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครองมากกว่าการเรียนในโรงเรียนที่เด็กๆ จะใช้ชีวิตอยู่กับคุณครูและเพื่อนๆ เป็นหลัก
5. ประหยัดเวลาและพลังงานในการเดินทาง
การเรียน Homeschool ไม่จำเป็นต้องรีบออกเดินทางไปที่โรงเรียนในทุกๆ เช้า สามารถเรียนที่บ้านได้เลย ต่างกับเด็กนักเรียนบางคนที่ต้องรีบตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อเดินทางไปถึงโรงเรียนให้ทันก่อน 8.00 น. แล้วต้องเสียเวลาในการเดินทางกลับบ้านหลายชั่วโมง Homeschool จึงช่วยให้ผู้เรียนประหยัดเวลาและพลังงานในการเดินทาง
6. มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่
ข้อดีของการเรียน Homeschool คือ ผู้เรียนมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ทั้งอิสระด้านความคิด การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการฝึกความรับผิดชอบต่อตนเอง เนื่องจาก Homeschool นั้นเป็นการเรียนที่ยืดหยุ่นได้ตามผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนปกติ ที่เด็กๆ มักไม่กล้าทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ เพราะโดนจำกัดจากผู้สอน
7. เป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ดีกว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนทั่วไป
การเรียนแบบ Homeschool ช่วยให้น้องๆ รู้จักทักษะการแก้ไขปัญหา มีความกล้าแสดงออก และพึ่งพาตัวเองได้ดีกว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนทั่วไป เพราะการเรียน Homeschool ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การทำการบ้าน การส่งงาน หรือควิซในห้องเรียน ซึ่งเด็กๆ จะต้องทำด้วยตนเองทั้งหมด จึงทำให้เด็ก Homeschool นั้นรู้จักทักษะการแก้ปัญหา รวมถึงรู้จักการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอีกด้วย
8. เป็นคนที่รักการเรียนรู้และ Productive กว่าเด็กๆ ที่เรียนโรงเรียนทั่วไป
Homeschool ทำให้เด็กๆ เป็นคนที่รักการเรียนรู้และ Productive กว่าเด็กๆ ที่เรียนที่โรงเรียน เนื่องจากการเรียนแบบ Homeschool จะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนในการค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งมีเวลาค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ ได้ลองหาความถนัดของตนเอง ทำให้เด็กๆ สนุกไปกับการเรียนรู้ และมีความกระตือรือร้นเมื่อได้เจอกับสิ่งแปลกใหม่
9. ทางเลือกของเด็กๆ ที่มีปัญหาสุขภาพ
Homeschool ตอบโจทย์การเรียนสำหรับเด็กๆ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เด็กๆ บางคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพอย่างหนัก หรือเป็นเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าคนอื่น หรือเป็นเด็กที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ควรเลือกเรียนแบบ Homeschool เนื่องจากเป็นการเรียนที่ผู้ปกครองสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ช่วงเวลาการเรียนการสอน การรับประทานอาหาร จนถึงการนอน ก็จะสามารถดูแลเด็กๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึง ไม่ต้องกังวลว่าจะตามบทเรียนไม่ทัน หากจำเป็นต้องขาดเรียนอีกด้วย
10. ทางเลือกของเด็กๆ ที่มีปัญหาโดนกลั่นแกล้ง (Bullying) ในโรงเรียน
Homeschool เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเด็กๆ ที่มีปัญหาโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน แน่นอนว่าการเรียนในโรงเรียนทำให้มีสังคม แต่ในบางครั้งก็มีปัญหาเรื่องเด็กโดนกลั่นแกล้ง หรือ Bullying ในโรงเรียน ที่มีทั้งการแกล้งด้วยคำพูด หรือการกระทำ ซึ่งการเรียน Homeschool เป็นการแก้ปัญหาให้เด็กๆ ที่โดนกลั่นแกล้ง ช่วยให้น้องๆ ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้นจากเดิม
รู้จัก GIST หรือยัง? ทางเลือก Homeschool หลักสูตรคุณภาพ
สำหรับใครที่กำลังสนใจการเรียนแบบ Homeschool อยู่ และไม่รู้ว่าควรเริ่ม Homeschool เองยังไงดี? ขอแนะนำอีกหนึ่งการศึกษาที่เหมาะกับยุคสมัยใหม่ด้วยหลักสูตร GIST ของ InterPass ที่เล็งเห็นปัญหาของการเรียนในโรงเรียนทั่วไป ที่เรียนค่อนข้างหนัก อีกทั้งมีหลายวิชาเรียนที่ไม่จำเป็นต่อการยื่นสมัครเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยหลักสูตร GIST จะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในอนาคตของน้องๆ เป็นหลัก เน้นเรียนตามความจำเป็น พร้อมเพิ่มคุณภาพการศึกษา เพื่อให้น้องๆ พร้อมพิชิตคณะในฝัน
วิชาการแน่น ตรงจุด ถึงเป้าหมายอย่างมั่นใจ
หลักสูตรของ GIST ถือเป็นหลักสูตรที่รวมวิชาการไว้อย่างครบถ้วน และตรงจุด เพื่อเน้นไปที่ความสำเร็จของเป้าหมาย โดยส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและนอกประเทศ จะกำหนดคุณสมบัติในการสมัคร โดยใช้ผลคะแนน 3 วิชาหลักๆ คือ GED, IELTS และ SAT ซึ่ง GIST ก็จะโฟกัสไปที่เนื้อหาที่ต้องใช้ในการสอบทั้ง 3 วิชาเป็นหลัก ไม่ต้องเสียเวลาเรียนกับวิชาอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการสอบ
หลักสูตรการเรียน 1 ปีเท่านั้น
หลักสูตร GIST เป็นหลักสูตรการเรียนที่กระชับ มาพร้อมคุณภาพเต็มเปี่ยม โดยใช้เวลาเรียนเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น เพราะ GIST คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แล้ว โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ปูพื้นฐานทางภาษา ให้น้องๆ ปรับสภาพแวดล้อมการเรียนให้พร้อมเข้าสู่การเรียนหลักสูตรนานาชาติในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างแน่นอน
ดูแลใกล้ชิด
น้องๆ ที่สมัครเข้าเรียน GIST ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะไม่มีใครให้คำปรึกษา เพราะพี่โค้ชและสถาบันพร้อมคอยดูแลน้องๆ อยู่ตลอด คอยตอบคำถาม ช่วยดูเรื่องการบ้าน รวมทั้งมีทีมผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาเวลาน้องๆ มีข้อสงสัยใดๆ สามารถถามติวเตอร์ได้เลย
จัดสรรเวลาได้อย่างดี
หลักสูตร GIST ได้จัดสรรเวลาเป็นอย่างดี เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยน้องๆ จะเข้าเรียนที่เป็นเวลา 4 วันต่อสัปดาห์ (อังคาร-ศุกร์) เพื่อให้น้องๆ มีเวลาเพิ่มมากขึ้น สามารถใช้เวลาที่เหลืออยู่ฝึกทำข้อสอบ อ่านหนังสือเพิ่มเติม หรือลองใช้เวลาในการค้นหาความชอบของตนเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับการเรียนในโรงเรียนปกติที่ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่เช้า กว่าจะเลิกเรียนก็เย็นแล้ว แถมน้องๆ บางคนยังต้องเรียนพิเศษต่อจนถึงดึกดื่นนั้น การเรียนหลักสูตร GIST จะได้เปรียบเรื่องของเวลาค่อนข้างมาก
หมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายบานปลาย
หมดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายบานปลาย เพียงแค่ลงเรียนหลักสูตร GIST เพราะได้รวมครบทุกเนื้อหาที่จำเป็นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จบครบในหลักสูตรเดียวในราคาเพียง 150,000 บาท ซึ่งเมื่อลองเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ที่มีค่าเทอมต่อเทอมสูงสุดประมาณ 100,000 – 200,000 บาทต่อเทอม จะเห็นว่าหลักสูตร GIST มีความคุ้มค่ามากกว่า และมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์โดยตรง ชัดเจน อีกทั้งเป็นใบเบิกทางที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เลือกเรียนข้ามชััน ได้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ก่อนใคร และได้มีเวลาใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
สำหรับใครที่สงสัยว่า Homeschool เริ่มยังไง เชื่อว่าคงจะได้คำตอบกันไปแบบจุใจเรียบร้อยแล้ว โดยสามารถทำตามสเต็ปการเตรียมตัวเรียนแบบ Homeschool ตามที่พี่ๆ ทีม InterPass นำข้อมูลมาฝากได้เลย ส่วนน้องๆ คนใดที่ไม่ต้องการเรียนตามหลักสูตรในโรงเรียน อยากสอบข้ามชั้นเพื่อรับวุฒิม. ปลายเลย ขอแนะนำหลักสูตร GIST ของ InterPass ที่คัดสรรเนื้อหาดีๆ หลักสูตรครบถ้วน ใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปีเท่านั้น การันตีคุณภาพหลักสูตรด้วยทีมผู้สอนที่มีประสบการณ์ในแวดวงการศึกษามายาวนานมากกว่า 10 ปี โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ หรือสามารถแอดไลน์ @gist เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร GIST ได้เลย!