คณะแพทย์ เป็นคณะที่น้องๆ หลายๆ คนใฝ่ฝันที่จะเข้าศึกษาต่อ ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้เข้าคณะในฝันได้สำเร็จ โดยระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีในปัจจุบัน เรียกว่า TCAS สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รอบ ได้แก่ 1. Portfolio 2. โควตา 3. Admission และ 4. รับตรง
สำหรับคณะแพทย์นั้นสามารถสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อได้ทั้ง 4 รอบเหมือนกับคณะอื่นๆ โดยแพทย์รอบ 1 เป็นการยื่น Portfolio แพทย์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติในการรับสมัครเอง และในรอบนี้จะเน้นพิจารณาที่ผลงาน กิจกรรม และคุณสมบัติที่มีความโดดเด่น ซึ่งการยื่น Portfolio แพทย์นั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่หลายๆ คนอาจจะกำลังสงสัยว่า Portfolio หมอ จะต้องมีเนื้อหา หรือรายละเอียดอะไรบ้าง ดังนั้น ในบทความนี้ได้ทำการรวบรวมข้อมูล Portfolio คณะแพทย์ พร้อมตัวอย่าง Portfolio แพทย์ มาให้น้องๆ ว่าที่คุณหมอทุกคนแล้ว จะต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไร ให้ Portfolio ของตัวเองน่าสนใจ ไปดูกันเลย!
รอบการสอบแพทย์มีอะไรบ้าง
การสอบเข้าศึกษาต่อแพทย์ในปัจจุบันนั้นใช้ระบบที่เรียกว่า TCAS ย่อมาจาก Thai University Central Admission System ซึ่งเป็นระบบการรับสมัครที่จะแบ่งการสอบเข้าหมอออกเป็น 4 รอบ ในแต่ละรอบจะมีเกณฑ์ในการรับเข้า รวมถึงการใช้คะแนนที่แตกต่างกันไป ใครที่อยากรู้ว่าสอบหมอแต่ละรอบใช้คะแนนอะไรบ้างไปดูกันเลย
- Portfolio หรือ แพทย์รอบ 1 บางคนอาจจะเรียกว่า แพทย์รอบพอร์ต เป็นรอบที่จะต้องยื่น Portfolio ที่รวบรวมผลงาน และกิจกรรมที่มีความน่าสนใจ รวมถึง ผลการทดสอบอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อรับการพิจารณาเข้าศึกษาต่อ
- โควตา สำหรับรอบโควตาจะเป็นรอบที่เปิดโอกาสให้กับเด็กๆ ทุกคน เพื่อเป็นการกระจายโอกาส และลดความเลื่อมล้ำ รวมถึง กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน (Community Track) ได้มีโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องสอบข้อสอบกลาง ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการคัดเลือกนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละที่ แต่ว่าอาจจะมีการใช้เกณฑ์อื่นๆ เช่น GAT/PAT, วิชาเฉพาะแพทย์ และวิชาสามัญ เพื่อยื่นประกอบการรับสมัครด้วย
- Admission เป็นรอบที่เปิดรับสมัครแพทย์จำนวนมากที่สุด โดยทาง กสพท. จะกำหนดให้ยื่นผสสอบวิชาสามัญ 70% และวิชาความถนัดแพทย์ 30% เพื่อประกอบการพิจารณาคัดเลือก
- รับตรง เป็นรอบสุดท้ายในระบบ TCAS โดยแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นสามารถกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกเองได้ หรือมีเกณฑ์ที่อิสระในการรับสมัคร
แพทย์รอบพอร์ต ต้องเตรียมอะไรบ้าง
สำหรับแพทย์รอบ 1 เป็นการยื่น Portfolio แพทย์ โดยภายในพอร์ตจะเป็นการรวบรวมผลงาน และกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำในช่วงมัธยมฯ ปลาย และนอกจากแฟ้มรวบรวมผลงานแล้ว ยังต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ หรือผลการสอบต่างๆ อยู่ภายใน Portfolio ด้วย เช่น เกรดเฉลี่ยสะสม, IELTS, หรือ BMAT เป็นต้น เพื่อประกอบการรับสมัคร และพิจารณาการคัดเลือก ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นก็จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป
1. เกรดเฉลี่ยสะสม
เกรดเฉลี่ยสะสม หรือ GPAX ในช่วงมัธยมฯ ปลายเป็นเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยได้กำหนด โดยส่วนใหญ่มักจะใช้เกรดเฉลี่ยประมาณ 4 – 5 เทอม ซึ่งเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป และบางมหาวิทยาลัยได้มีการกำหนดเกรดเฉลี่ยสะสมขั้นต่ำไว้ที่ 3.50 แต่บางมหาวิทยาลัยก็กำหนดไว้ต่ำกว่า 3.50 หรือบางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้กำหนดเกรดเฉลี่ยสะสมขั้นต่ำไว้
2. IELTS
สำหรับการรับสมัครแพทย์รอบพอร์ตผู้สมัครสอบจะต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ จึงทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดเกณฑ์ในการยื่นผลการสอบภาษาอังกฤษด้วย ซึ่ง IELTS (International English Language Testing System) เป็นการทดสอบภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถใช้ยื่นได้ทุกมหาวิทยาลัยใน TCAS รอบที่ 1 แต่สัดส่วนคะแนนของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีความแตกต่างกันไป
3. TOEFL
ข้อสอบ TOEFL เป็นข้อสอบวัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีการทดสอบทั้ง 4 ด้าน คือการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน รูปแบบในการสอบ TOEFL มี 2 แบบคือ TOEFL iBT และ TOEFL ITP สำหรับผลสอบ TOEFL ที่ใช้ประกอบการยื่นเข้าคณะแพทย์จะต้องเลือกสอบแบบ TOEFL iBT ซึ่งเป็นการทำข้อสอบแบบคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์สอบ มีคะแนนทั้งหมดเต็ม 120 คะแนน โดยแต่ละพาร์ทจะมีคะแนนเต็มพาร์ทละ 30 คะแนน
4. BMAT
BMAT ย่อมาจาก Biomedical Admissions Test เป็นแบบทดสอบที่แบ่งออกเป็น 3 พาร์ท คือ 1. Aptitude & Skills 2.Scientific Knowledge and Applications และ 3.Writing Task ถือเป็นข้อสอบที่มีความสำคัญอย่างมากในการยื่นPortfolio หมอ เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้นจะให้ค่าน้ำหนักของการสอบ BMAT มากกว่าเกรดเฉลี่ยสะสม และผลสอบภาษาอังกฤษอื่นๆ
- Aptitude & Skills เป็นข้อสอบแนว Problem Solving และข้อสอบแนว Critical Thinking อย่างละ 16 ข้อ รวมเป็น 32 ข้อ โดยมีคะแนนเต็ม 9 คะแนน และมีเวลาสำหรับการทำข้อสอบ 60 นาที
- Scientific Knowledge and Applications สำหรับเนื้อหาข้อสอบในพาร์ทนี้
จะครอบคลุมทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา จำนวนทั้งหมด 27 ข้อ โดยจะมีคะแนนเต็ม 9 คะแนน และมีเวลาในการทำข้อสอบ 30 นาที - Writing Task เป็นข้อสอบเขียนที่ทดสอบความสามารถในการจัดการความคิด และการสื่อสารด้วยการเขียน ซึ่งจะมีข้อสอบให้มาทั้งหมด 3 ข้อ ให้ผู้สอบเลือกตอบคำถามจาก 1 ใน 3 ข้อของข้อสอบที่ให้มา ในพาร์ทนี้มีคะแนน 2 ส่วน ส่วนแรกด้านเนื้อหา มีเต็ม 5 คะแนน และส่วนที่สองเป็นด้านภาษาอังกฤษ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนเป็น A C E มีเวลาในการทำข้อสอบทั้งหมด 30 นาที
5. Portfolio
สำหรับการสมัครเข้าศึกษาต่อในคณะแพทย์รอบ 1 เป็นการยื่น Portfolio ที่แสดงความเป็นตัวเอง พร้อมทั้งผลงาน กิจกรรมที่ทำ หรือรางวัลที่ได้รับ รวมถึงงานอาสา และงานวิชาการอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความสนใจที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะแพทย์
6. การสัมภาษณ์
เมื่อน้องๆ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาต่างๆ มาแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในการสอบคัดเลือก คือ การสัมภาษณ์แบบ MMI (Multiple Mini Interview) โดยให้ผู้สอบสัมภาษณ์แสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะมีการแบ่งออกเป็นสถานีย่อยๆ ซึ่งในแต่ละสถานีคณะกรรมการจะสอบถามถึงเรื่องต่างๆ บางครั้งอาจให้แสดงออกผ่านบทบาทสมมุติร่วมกับเพื่อนที่สัมภาษณ์ด้วยกัน เพื่อประเมินทักษะ ดังนั้น น้องๆ ควรตอบคำถามที่แสดงถึงทัศนคติอย่างมีเหตุผล รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้เข้าคณะที่ต้องการได้
ส่วนประกอบที่ควรมีใน Portfolio คณะแพทย์
การยื่น Portfolio ถือเป็นการเปิดรับสมัครแพทย์รอบ 1 ซึ่งนอกจากจะใช้เกณฑ์ผลการทดสอบต่างๆ ที่กำหนดไว้แล้ว จะต้องมี Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน ที่แสดงถึงตัวตน ทักษะ และความสามารถของเรา ที่สำคัญ คือ จะต้องศึกษาให้ดีว่าในแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนหน้าของ Portfolio ไว้เท่าไร แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วส่วนประกอบที่จะต้องมีใน Portfolio หมอก็มักจะมีส่วนคล้ายๆ กัน ดังนี้
· หน้าปก
หน้าปก เป็นส่วนที่คณะกรรมการจะต้องเห็นเป็นอย่างแรก ดังนั้น น้องๆ จึงควรออกแบบให้มีความสะดุดตา น่าสนใจ และดูสวยงามมากที่สุด โดยในส่วนหน้าปกนั้นควรจะมีข้อมูลว่า เราเป็นใคร จบมาจากโรงเรียนอะไร และที่สำคัญ คือ หน้าปกจะไม่นับรวมกับจำนวนหน้าที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้
· ประวัติส่วนตัว
สำหรับส่วนของประวัติส่วนตัว น้องๆ จะต้องใส่ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับตัวเอง เช่น ชื่อ-นามสกุล และ ข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล งานอดิเรก และความสามารถพิเศษ เป็นต้น
· ประวัติการศึกษา
สำหรับประวัติการศึกษา น้องๆ สามารถใส่ข้อมูลโรงเรียนที่จบมาในแต่ละระดับชั้นได้เลย โดยเรียงจากระดับการศึกษาล่าสุด ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมฯ ปลาย, มัธยมฯ ต้น และประถมศึกษา ที่สำคัญในส่วนนี้ควรบอกข้อมูลให้ครบถ้วน เช่น ชื่อโรงเรียน หลักสูตรที่เรียน รวมถึง บอกเกรดเฉลี่ยของแต่ละเทอม หรือแต่ละชั้นปีของระดับมัธยมฯปลายด้วย แต่สำหรับเกรดเฉลี่ยระดับชั้นมัธยมฯต้น และประถมศึกษา สามารถใส่เฉพาะเกรดเฉลี่ยรวมของระดับชั้นก็เพียงพอแล้ว
· ความตั้งใจที่อยากจะเข้าคณะแพทย์
ส่วนนี้จะเป็นการเขียนเรียงความแบบย่อ โดยเน้นให้มีความกระชับ เข้าใจง่าย เนื้อหาไม่ควรยาว หรือสั้นจนเกินไป และที่สำคัญ คือ ควรเขียนแสดงถึงความตั้งใจที่อยากจะเข้าศึกษาต่อในคณะแพทย์ รวมถึง ความสนใจในคณะ มหาวิทยาลัย และเป้าหมายในอนาคตของตัวน้องๆ เอง
· ผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่างๆ
สำหรับในส่วนของผลงาน รางวัล และเกียรติบัตร เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากผลการเรียน เพื่อแสดงถึงกิจกรรมที่น้องๆ ถนัด หรือมีความสนใจเป็นพิเศษ เช่น การเป็นคณะกรรมการนักเรียน การแข่งขัน การเรียนรู้ เวิร์คชอป อบรม และคอร์สออนไลน์ในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาใส่ในส่วนนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการ หรือผลงานที่ไม่ใช่งานวิชาการ พร้อมกับเขียนอธิบายสั้นๆ ใต้เกียรติบัตร ว่ากิจกรรมนั้นๆ เกี่ยวข้องกับอะไร และที่สำคัญควรเลือกเฉพาะผลงานที่มีความโดดเด่น น่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับคณะที่ต้องการเข้าศึกษาต่อ
· กิจกรรมที่เคยทำ
นอกจากผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถแล้ว การใส่กิจกรรมที่เคยทำ เช่น การวิ่ง กิจกรรมดนตรี การวาดภาพ รวมถึง ความสามารถพิเศษอื่นๆ เช่น ทักษะความเป็นผู้นำ หรือการเข้าสังคม เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตนของเรามากขึ้น
และสำหรับน้องๆ ที่ต้องการยื่นแพทย์รอบพอร์ต ควรใส่กิจกรรมประเภทจิตอาสา การช่วยเหลือสังคม อาสาสมัคร และการบริจาคลงไปด้วย เพราะเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องทำที่โรงพยาบาลเท่านั้น และสามารถเลือกทำกิจกรรมอาสาแบบอื่นๆ ได้ เช่น สถานสงเคราะห์เด็ก บ้านพักคนชรา และมูลนิธิฯ ต่างๆ เป็นต้น
แพทย์รอบ 1 ออกแบบ Portfolio อย่างไรให้น่าสนใจ
ถึงแม้ว่าเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกส่วนใหญ่นั้นจะขึ้นอยู่ที่ผลการสอบที่ยื่นเข้าไป รวมถึงผลงาน รางวัล กิจกรรมต่างๆ หรือผลงานที่เคยทำ แต่ว่าการออกแบบพอร์ตให้มีความน่าสนใจ ก็สามารถแสดงให้กรรมการเห็นถึงความตั้งใจของน้องๆ ได้ ซึ่งการออกแบบ Portfolio สอบเข้าหมอให้น่าสนใจ สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
· เลือก Mood and Tone ให้เหมาะสม
Mood and Tone เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะว่าการทำงานออกแบบ อย่างการกำหนด Mood and Tone นั้นจะช่วยให้งานออกแบบไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกธีมสี การเลือกใช้ตัวอักษร รวมถึง รูปกราฟิกที่ใช้ประกอบใน Portfolio ก็จำเป็นจะต้องเลือกให้แมตช์กัน เพื่อให้งานออกแบบของน้องๆ นั้นออกมาดูดี และมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
· ใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย ขนาดเหมาะสม
ฟอนต์ตัวอักษร ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหลักในการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำ Portfolio ที่จะต้องมีการเขียน และมีตัวอักษรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น น้องๆ จึงควรเลือกใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย สบายตา และที่สำคัญ คือ หัวข้อ และเนื้อหาจะต้องใช้ฟอนต์ที่มีขนาดต่างกัน เพื่อช่วยให้กรรมการนั้นเข้าใจง่ายขึ้น และไม่สับสน
· จัด Layout ให้สวยงาม
การจัด Layout เป็นการจัดองค์ประกอบของภาพให้มีความเหมาะสม น่ามอง และช่วยให้เรานำเสนอข้อมูลออกมาเป็นระบบระเบียบ ซึ่งน้องๆ จะต้องวางรูปภาพ และตัวอักษรให้มีความบาลานซ์ ไม่หนักไปข้างใดข้างหนึ่ง
· เลือกภาพประกอบที่น่าสนใจ
การเลือกใช้ภาพประกอบจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลงานของน้องๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้กรรมการนั้นมีพื้นที่สำหรับพักสายตาจากข้อความได้อีกด้วย ดังนั้น น้องๆ จึงควรเลือกภาพที่มีความน่าสนใจ และที่สำคัญ คือ จะต้องใช้ภาพที่เหมาะสมกับการใส่ Portfolio ด้วย
แพทย์รอบพอร์ตเหมาะกับใคร
การสมัครแพทย์รอบพอร์ตนั้นนอกจากจะต้องยื่นผลสอบตามเกณฑ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดไว้แล้ว ยังต้องแนบผลงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านวิชาการ กีฬา ศิลปะ รวมถึง กิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมอาสา และงานช่วยเหลือสังคม หรือการแข่งขันทางด้านต่างๆ ดังนั้น การสมัครแพทย์รอบ 1 จึงเหมาะกับน้องๆ ที่ชอบทำกิจกรรม มีผลงาน และความสามารถพิเศษที่โดดเด่น
รายละเอียดพอร์ตแพทย์แต่ละมหา’ลัยในระบบ TCAS
สำหรับแพทย์รอบพอร์ตนั้นมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดรับสมัครในรอบนี้ เช่น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติ และเกณฑ์ในการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในรอบ Portfolio จะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละมหาวิทยาลัย และมักมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ดังนั้น น้องๆ จึงควรติดตามประกาศเกณฑ์การรับสมัครแพทย์รอบ 1 จากมหาวิทยาลัยในฝันของตัวเอง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการสมัครคัดเลือก
แพทย์ รอบ 1 หรือแพทย์รอบพอร์ต เป็นรอบที่น้องๆ มัธยมฯ ปลายจะต้องใช้ผลสอบต่างๆ ตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด พร้อมกับการยื่น Portfolio หมอที่ได้รวบรวมผลงานต่างๆ ทั้งผลงานด้านวิชาการ และกิจกรรมอื่นๆ ที่สนใจ เช่น การแข่งขัน การเรียนรู้ เวิร์คชอปทางด้านต่างๆ รวมถึง ทักษะความเป็นผู้นำ และการเข้าสังคม หรือกิจกรรมประเภทจิตอาสา และการช่วยเหลือสังคมในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาเข้าศึกษาต่อในคณะแพทย์ ซึ่ง Portfolio คณะแพทย์นั้นนอกจากจะรวบรวมผลงานที่โดดเด่นแล้ว น้องๆ ยังควรออกแบบให้มีความน่าสนใจ พร้อมทั้งแสดงถึงความเป็นตัวเองด้วย ซึ่งการทำพอร์ต เพื่อยื่น Portolio แพทย์ นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่น้องๆ จะต้องมีการเตรียมตัวที่ดี รู้ว่าควรเริ่มเก็บผลงานชิ้นใดบ้าง ดังนั้น ยิ่งเตรียมตัวได้เร็วมากเท่าไร ก็จะช่วยให้น้องๆ มีโอกาสในการสอบเข้าแพทย์รอบนี้ได้มากเท่านั้น