BLOG

    Home Blog Latest เผยเคล็ดลับพูดให้เหมือนเจ้าของภาษา ด้วยเทคนิคการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ

เผยเคล็ดลับพูดให้เหมือนเจ้าของภาษา ด้วยเทคนิคการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ

การใช้ Linking Sound

การออกเสียงภาษาอังกฤษให้ถูกต้องตามแบบฉบับเจ้าของภาษา อาจเป็นเรื่องที่หลายๆ คนมองข้าม เพราะมองว่าแต่ละประเทศย่อมมีสำเนียงภาษาอังกฤษที่ติดสำเนียงภาษาตัวเองอยู่แล้ว จนบางครั้งการออกเสียงอาจเกิดการผิดเพี้ยน จนเจ้าของภาษาฟังไม่เข้าใจ หรือเกิดการสื่อสารผิดพลาดได้ ซึ่งการรู้จักการออกเสียงภาษาอังกฤษ และการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ (Linking Sound) จะช่วยให้การพูดภาษาอังกฤษน้องๆ ฟังดูลื่นไหล คล่องแคล่ว สำเนียงใกล้เคียงเจ้าของภาษา และมีความเป็นธรรมชาติ ทำให้เจ้าของภาษาเข้าใจสิ่งที่เราพูดง่ายขึ้น ซึ่งช่วยลดโอกาสที่จะสื่อสารผิดพลาดได้

Linking Sound คืออะไร

Linking Sound คืออะไร

Linking sound คือการเชื่อมคำ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมระหว่างเสียงคำท้ายของคำหนึ่งกับเสียงแรกของคำถัดไป ทำให้เวลาพูดออกมาเป็นประโยคแล้วคำบางคำจึงมีการออกเสียงที่แตกต่างกับเวลาที่อ่านออกเสียงแบบเดี่ยวๆ น้องๆ เคยสังเกตไหมว่า เวลาที่ชาวต่างชาติ หรือเจ้าของภาษาพูด เรามักจะได้ยินการเชื่อมคำอยู่เสมอ ซึ่งเทคนิคการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษนั้น ทำให้การพูดไหลลื่น ไม่ติดขัด เพราะฉะนั้น หากน้องๆ รู้สึกว่าเวลาที่ตัวเองพูดภาษาอังกฤษแล้วดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้เชื่อมเสียงนั่นเอง

เรื่องพื้นฐานในการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ ที่ต้องรู้!

ถ้าอยากพูดภาษาอังกฤษให้สำเนียงเป๊ะ ก็ต้องมาปูพื้นฐานกันหน่อย เริ่มจากการทำความรู้จักกับการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษที่ต้องรู้กันเสียก่อน โดยกฎการเชื่อมเสียงในภาษาอังกฤษพื้นฐานนั้นประกอบไปด้วยการเชื่อมแบบ Consonant to Consonant, Consonant to Vowel และVowel to Vowel

หลักการเชื่อมแบบ Consonant to Consonant

Consonant to Consonant

หลักการเชื่อมแบบ Consonant to Consonant เป็นการเชื่อมเสียงพยัญชนะตัวท้ายของคำหนึ่งและพยัญชนะต้นของคำถัดมาเข้าด้วยกัน โดยการที่จะเชื่อมกันได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพยัญชนะเดียวกัน แค่มีเสียงพยัญชนะที่เหมือนกันก็ได้ และจะไม่ออกเสียงพยัญชนะซ้ำกัน แต่จะออกเสียงพร้อมกันทีเดียว

ตัวอย่างการเชื่อมเสียงแบบ Consonant to Consonant

  • Good day [gooday]
  • Hot topic [hotopic]
  • Both things [bothings]
  • Pink coat [pinkoat] 
  • Deep breath [deebreath]
หลักการเชื่อม Consonant to Vowel

Consonant to Vowel

หลักการเชื่อม Consonant to Vowel ก็คือการเชื่อมเสียงพยัญชนะและสระเข้าด้วยกัน โดยคำก่อนหน้าลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะ และคำถัดมาเริ่มต้นด้วยเสียงสระ ซึ่งการเชื่อมเสียงแบบนี้เสียงที่ออกมาก็จะฟังดูกลมกลืนเป็นคำเดียวกัน

ตัวอย่างการเชื่อมเสียงแบบ Consonant to vowel 

  • This is [thisis] 
  • Turn on [turnon]
  • Drop off [dropoff]
  • An umbrella [anumbrella]
  • Can I [cani]
หลักในการเชื่อมเสียงแบบ Vowel to Vowel

Vowel to Vowel

หลักในการเชื่อมแบบ Vowel to Vowel เป็นการเชื่อมที่เกิดขึ้นเมื่อพยางค์สุดท้ายของคำก่อนหน้าเป็นเสียงสระ และคำขึ้นต้นของคำถัดไปเป็นเสียงสระเช่นเดียวกัน ซึ่งการเชื่อมในลักษณะนี้จะเกิดเสียง /w/ หรือ เสียง /y/ ขึ้นมา เพื่อมาทำหน้าที่เชื่อมระหว่างคำเข้าด้วยกัน การที่จะรู้ได้ว่าต้องใช้เสียง /w/ หรือ เสียง /y/ ก็ดูได้จากเสียงสระท้ายของคำที่จะไปเชื่อมกับคำถัดไป หากเป็น A, E, I จะเพิ่มเสียง /y/ แต่หากเป็นเสียงสระ O และ U จะใช้เสียง /w/ เข้ามาช่วยในการเชื่อมเสียง

 ตัวอย่างการเชื่อมเสียงแบบ Vowel to Vowel

  • My uncle [myuncle]
  • She is [sheyis]
  • Who is [whoyis]
  • Go on [gowon]
  • Two oranges [twoworanges]
รูปแบบการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษมีอะไรบ้าง

รูปแบบการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษมีอะไรบ้าง

เมื่อทำความรู้จักกับการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษกันไปแล้ว รูปแบบการเชื่อมเสียงในภาษาอังกฤษก็มีส่วนสำคัญที่ต้องทำความรู้จักว่ามีหลักการเชื่อมอย่างไรบ้าง การเชื่อมคำในกรณีที่เป็นเจ้าของภาษาจะมีการพูดหรือเปล่งเสียงคำเชื่อมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เอาไว้ เพื่อนำไปปรับใช้ในการพูดของตัวเอง น้องๆ ที่อยากพูดได้ลื่นไหล ฟังดูเป็นธรรมชาติ ไม่ติดขัด หรือเว้นวรรคผิดจังหวะ ต้องเรียนรู้รูปแบบการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้

Blending Sounds

รูปแบบในการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ใช้การ Blending Sounds คือการที่เสียงหนึ่งกลมกลืนผสมไปกับอีกเสียงหนึ่งอย่างลื่นไหล โดยวิธีการ Blending เสียงใช้ได้ดีกับ Continuous Consonant (l, r, w, y, th, v, zh, z, f, sh, s, h, m, n, ng) เพราะ Continuous Consonants เมื่อเปล่งเสียงจะมีลมออกมาแบบต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเชื่อมคำแบบผสมกลมกลืนเสียงจากเสียงหนึ่งไปยังอีกเสียงหนึ่งได้

Overlapping Sounds

Overlapping Sounds คือการที่เสียงหนึ่งกับอีกเสียงหนึ่งเกิดการเหลื่อมซ้อนกัน ส่งผลให้เสียงใดเสียงหนึ่งหรือทั้งสองเสียง ออกเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งที่จะเกิดจากเสียงที่ Overlap กันก็คือ Nasal Aspiration และ Lateral Aspiration โดย Nasal Aspiration เกิดขึ้นเมื่อเสียง /d/ เชื่อมกับเสียง /n/ โดยเสียง /d/ จะถูกปล่อยออกมาเป็นเสียง /n/ เช่น Good news ส่วน Lateral Aspiration เชื่อมเสียง /d/ และ /l/ โดยเสียง /d/ จะถูกปล่อยออกมาเป็นเสียง /l/ เช่นคำว่า Red light 

Changing sounds

อีกหนึ่งรูปแบบการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ คือ การเปลี่ยนเสียงหรือ Changing Sounds เกิดขึ้นเมื่อ d หรือ t มาก่อน y โดยเสียงจะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น “don’t you” เมื่อพูดออกมาจะเกิดเสียง /ch/ กลายเป็น “donchu”

Adding Sounds

Adding Sounds เป็นการเชื่อมเสียงที่มีการเติมเสียง /w/ หรือ /y/ เข้าไป เพื่อเชื่อมเสียง จะเกิดขึ้นเมื่อเป็นการเชื่อมเสียงสระสองตัวเข้าด้วยกันแบบ Vowel to Vowel เช่น The end ออกเสียงเป็น “theyend” และ So on ออกเสียงเป็น “sowon”

Omitting Sounds

Omitting Sounds คือการเชื่อมคำแบบตัดคำ เมื่อมีเสียง /t/ หรือ /d/ อยู่ระหว่างเสียงพยัญชนะ ซึ่งในกรณีนี้เสียง /t/ หรือ /d/ สามารถตัดออกได้ เช่น best suit อ่านได้เป็น “besuit”

Double Sounds

การเชื่อมคำแบบ Double Sounds ทำได้เมื่อพยัญชนะตัวท้ายเป็นตัวเดียวกันกับพยัญชนะตัวต้นของคำถัดไป ซึ่งรูปแบบการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ แบบนี้จะเชื่อมกันโดยการออกเสียงเดียวกัน แต่จะออกเสียงยาวขึ้น 

เทคนิคการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษดีอย่างไร

เทคนิคการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษดีอย่างไร

การรู้เทคนิคการออกเสียงด้วยการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษนั้น จะช่วยให้น้องๆ พูดภาษาอังกฤษได้สำเนียงแบบเจ้าของภาษา ฟังแล้วลื่นไหล ต่อเนื่อง ทำให้การพูดภาษาอังกฤษมีความเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ทักษะการฟังดีขึ้นด้วย เพราะเข้าใจการพูดของเจ้าของภาษาที่ใช้พูดในชีวิตประจำวันอย่างจริงๆ  และยังส่งผลให้การสอบ Listening Test กลายเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับน้องๆ ที่กังวลกับข้อสอบฟัง การเข้าใจการเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี ที่สามารถช่วยดึงคะแนนได้อีกเยอะเลยทีเดียว 

Linking Sound คือ การเชื่อมเสียงภาษาอังกฤษ โดยจะมีหลักการเบื้องต้นอย่างคร่าวๆ คือ การเชื่อมระหว่างพยัญชนะกับพยัญชนะ การเชื่อมระหว่างพยัญชนะกับสระ และการเชื่อมระหว่างสระกับสระ โดยรูปแบบการเชื่อมทั้งสามก็จะมีหลักการที่แตกต่างกันไป สำหรับการออกเสียงโดยใช้ Linking Sound นั้นช่วยให้มีสำเนียงที่ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา ช่วยให้การสื่อสารง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังฟังเจ้าของภาษาได้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย

GED เข้าคณะไหนได้บ้าง Part2 FAQ : รวมคำถาม SAT 2021 อัพเดทข้อมูลสนามสอบ

Date : Dec 20, 2022

You May Like