หากกล่าวถึงเส้นทางอาชีพในฝันของน้องๆ การเป็นหมอคืออาชีพแรกๆ ที่ทุกคนต้องนึกถึงอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเรียนในคณะนี้ อยากให้มั่นใจก่อนว่ามีความพร้อมและต้องการที่จะเป็นหมอจริงหรือไม่ โดยอาจจะขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ หรือเดินทางไปร่วมงาน Open House ตามที่จัดขึ้นในมหา’ลัยต่างๆ เพื่อฟังประสบการณ์การเรียนและการทำงานที่แท้จริงของเหล่าอาชีพหมอ ซึ่งจะสามารถเพิ่มความมั่นใจและเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเดินทางในสายอาชีพนี้ได้ เอาล่ะ ถ้าหากมั่นใจและมีความพร้อมที่จะเป็นหมอแล้ว เราก็ไปเริ่มเตรียมตัวด้วย 7 เทคนิคเตรียมสอบแพทย์ พร้อมๆ กันเลย!

1.วางแผนการเตรียมตัว
เมื่อมีความมุ่งมั่นและเต็มไปด้วยความมั่นใจแล้วว่า ตัวเองอยากจะต้องเข้าคณะแพทย์ให้ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มที่ดีเลย โดยเริ่มแรกของการเตรียมสอบหมอและวางแผนนั้น อาจจะแบ่งอย่างชัดเจนไปเลยว่าช่วงไหนจะทำอะไร เช่น ปิดเทอมจะลงเรียนคอร์สเสริม หรือหลังจากเลิกเรียนทุกวันจะต้องหยิบหนังสือเล่มไหนมาอ่าน เป็นต้น ซึ่งหากน้องๆ รู้ตัวว่าอยากสอบเข้าแพทย์เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้มีเวลาเตรียมตัวและวางแผนที่เยอะมากขึ้น แต่ถ้ารู้ตัวช้ากว่านั้นก็ไม่ต้องกังวัลไป เพรายังมีโอกาสที่จะเข้าคณะในฝันได้ เพียงแค่อาจจะมีเวลาในการเตรียมตัวที่ค่อนข้างจำกัดเท่านั้นเอง
อีกหนึ่งเทคนิคการวางแผนที่จะทำให้น้องๆ สามารถเตรียมตัวต่อและวางแผนได้เร็ว คือ การให้ความสำคัญกับผลการเรียน เพราะในการสอบเข้าแพทย์บางรอบจำเป็นต้องยื่นเกรดเฉลี่ยของน้องๆ เอง ซึ่งแต่ละมหา’ลัยจะมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนไว้ต่างกัน ทั้งนี้ การสอบเข้าหมอจะมีรายละเอียดขั้นตอนที่จะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจ โดยหลักๆ จะถูกแยกออกเป็น 2 ประเด็น ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญที่ไม่ควรพลาด ดังนี้
• จะยื่นรอบไหน
การยื่นสมัครเข้าคณะแพทย์ จะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 รอบด้วยกัน โดยจะมีรอบ 1 Portfolio, รอบ 2 โควตา, รอบ 3 Admission และรอบ 4 รับตรง โดยในแต่ละรอบจะเปิดรับในช่วงเวลาที่ต่างกัน รวมทั้งคำถามที่พบบ่อยอย่างสอบหมอใช้คะแนนอะไรบ้าง และรายละเอียดการสมัครเป็นอย่างไร ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาไว้เช่นกัน เพื่อให้สามารถวางแผนการเตรียมตัว จัดเวลาการอ่านหนังสือและเลือกโฟกัสสิ่งที่มีความสำคัญได้อย่างถูกต้อง
นอกจากจะทำความเข้าใจในระบบการยื่นสมัครเข้าเรียนคณะแพทย์ทั้ง 4 รอบแล้ว อย่าลืมว่าควรวางแผนสำรองไว้ด้วย เพราะหากยื่นสมัครในรอบที่ 1 ไม่ติด น้องๆ ก็สามารถสมัครสอบในรอบอื่นๆ ได้ เพื่อที่จะไม่เสียโอกาสในการเข้าเรียนคณะในฝัน
• เตรียมพอร์ต
เตรียมสร้างพอร์ตก่อนมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะในการสอบแพทย์ทุกๆ รอบ อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องมีพอร์ตแนะนำตัวเองติดไปด้วย เพื่อเอาไว้แสดงผลงาน ผลการเรียน ประวัติต่างๆ ที่น่าสนใจของตัวเอง ยิ่งถ้าเป็นการสอบหมอรอบ 1 แล้วล่ะก็ กรรมการจะวัดผลด้วยพอร์ตตัวนี้เลย ซึ่งสามารถดูตัวอย่าง Portfolio แพทย์ และสามารถนำไปปรับใช้ได้เลย เพื่อจะได้สร้างพอร์ตให้มีความน่าดึงดูด น่าสนใจ จนกรรมการละสายตาไม่ได้เลย
ถึงอย่างไรก็ตาม แต่ละมหา’ลัยจะมีสเปกรายละเอียดของ Portfolio ที่แตกต่างกัน ซึ่งหากน้องๆ สนใจมหา’ลัยไหนก็ต้องคอยติดตามข่าวสารจากมหา’ลัยนั้นๆ เพื่อให้สามารถออกแบบ Portfolio ได้ตรงใจกรรมการ

2. จัดสรรเวลาให้ดี
ในวันหนึ่งๆ น้องๆ อาจมีเรื่องที่ต้องทำเยอะแยะไปหมด เช่น การเรียน ทำกิจกรรม อ่านหนังสือ พักผ่อนหรือแม้แต่การเข้าคอร์สเรียนพิเศษเพิ่มเติม เล่นเอาหนึ่งวันหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากสามารถจัดสรรเวลาให้เหมาะสมและบริหารเวลาให้กับตัวเองได้ ก็จะช่วยให้น้องๆ สามารถทำสิ่งที่สำคัญ และยังเหลือเวลาพักผ่อนอีกด้วย
• จัดตารางเวลาและแบ่งเวลาให้เหมาะสม
จัดระเบียบชีวิตด้วยการทำ To Do Lists เพราะการทำลิสต์จะช่วยให้เห็นภาพของสิ่งที่จำเป็นต้องทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำโจทย์ หรือการอ่านทบทวนเนื้อหา ซึ่งหลักการแบ่งเวลาก็ขึ้นอยู่กับความชอบ และความเหมาะสมของแต่ละคน เช่น ภายในหนึ่งวันอาจจะทบทวนหนังสือวิชาชีววิทยา 3 ชั่วโมงในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายก็เปลี่ยนไปเป็นตะลุยแบบฝึกหัดวิชาเคมีแทน หรือแบ่งเวลาให้เหมาะสมกับพิ้นฐานความถนัดตัวเองว่าควรให้เวลากับวิชาไหนมากหรือน้อยกว่ากัน และเมื่อได้ทำ To Do Lists แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นมาก คือ ความมีวินัยในการทำในสิ่งที่ลิสต์ไว้ เพื่อให้เกิดการจดจำและการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ควรอัดสิ่งที่ต้องทำจนแน่นตารางมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดความเครียดและรู้สึกกดดันได้ เนื่องจากการทบทวนควรจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ไม่ควรเน้นว่าวันนี้จะต้องอ่านหนังสือให้มากที่สุด และทำโจทย์ให้เยอะที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วอาจจะได้แค่ปริมาณ แต่อาจไม่สามารถได้รับความรู้ความเข้าใจได้อย่างเต็มที่
• การพักผ่อนสำคัญต่อการเรียนรู้
ความกดดันและการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมากเกินไปก็จะส่งผลต่อจิตใจและสุขภาพได้ เพราะฉะนั้นแล้ว เพื่อเป็นการผ่อนคลายระหว่างการเรียนหรือการอ่านหนังสือเองก็ตาม ให้หยุดพักหันไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง เช่น การดูหนังที่ชอบ การเล่นเกม การทำกิจกรรมกับครอบครัว หรือการนอนหลับเองก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนเช่นกัน หากในขณะที่ทบทวนหนังสืออยู่นั้นเกิดอาการง่วงระหว่างวันก็ควรนอนพักสักเล็กน้อยประมาณ 10-20 นาที เพื่อเป็นการรีเฟรชร่างกาย เพราะถ้าฝืนทบทวนอ่านหนังสือต่อไปสมองก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
ดังนั้น จะเห็นไ้ด้ว่าการสร้างความสมดุลระหว่างการเรียนและการพักผ่อนจะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น และยังสามารถทำให้ความจำดีขึ้นอีกด้วย เพราะร่างกายและสมองไม่รู้สึกว่าถูกอัดแน่นมากเกินไป

3. อ่านหนังสือให้เยอะและเน้นคุณภาพ
ในการเตรียมสอบหมอหรือไม่ว่าจะเป็นการสอบวิชาใดๆ ก็ตาม จำเป็นที่จะต้องอ่านหนังสือ เพราะยิ่งอ่านมากก็ยิ่งมีความรู้และความชำนาญมากขึ้น ซึ่งการอ่านหนังสือวิชาต่างๆ เพื่อสอบเข้าแพทย์อาจแบ่งได้ดังนี้
• วิชาหลักที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกๆ
อันดับแรกวิชาที่ควรให้ความสำคัญและต้องหมั่นอ่านอยู่บ่อยๆ เช่น เลข ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี หรือความถนัดแพทย์ เพราะต้องบอกว่าเป็นวิชาปราบเซียนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องเน้นความเข้าใจจริง และยังต้องใช้สกิลในการตีความหมาย คิดวิเคราะห์ค่อนข้างเยอะพอสมควร การอ่านหนังสือและทำความคุ้นเคยกับโจทย์ของวิชาเหล่านี้บ่อยๆ จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และจำสูตรได้ง่ายมากขึ้นเมื่อเจอข้อสอบจริง โดยน้องๆ อาจเลือกหนังสือรวมโจทย์คณิตศาสตร์ หรือรวมข้อสอบเก่าวิชาต่างๆ ตามความต้องการของตนเองได้
• วิชาอื่นๆ ที่ทยอยอ่านได้
วิชาอื่นๆ ที่สามารถทยอยอ่านได้จะมีวิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาสังคม ซึ่งแม้ว่าจะทยอยอ่านได้แต่ก็ยังคงต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะยังถือว่าเป็นวิชาที่ต้องใช้ในการสอบ เนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การท่องจำ แต่ก็ยังต้องอาศัยความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน ในส่วนการสอบวิชาภาษาไทยจะเน้นไปที่แนวคิด การอนุมาน และจุดประสงค์ของผู้เขียน รวมถึง ยังมีเรื่องของชนิดของคำต่างๆ การใช้พยางค์และคำราชาศัพท์ และสำหรับภาษาอังกฤษก็จะมีส่วนของการอ่านบทความยาวๆ แล้วเลือกคำตอบ รวมทั้งข้อสอบที่วัดไวยากรณ์ โดยน้องๆ อาจเลือกหนังสือสรุปไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ หรือรวมข้อสอบเก่าวิชาต่างๆ ก็ได้เช่นกัน

4. ซ้อมทำโจทย์เก่าๆ และจับเวลา
เตรียมสอบแพทย์ด้วยการฝึกซ้อมทำโจทย์เก่าๆ สามารถช่วยให้เจอแนวข้อสอบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และดูว่าข้อสอบแนวไหนเป็นจุดอ่อนเพื่อฝึกในส่วนนั้นให้มากขึ้น เมื่อฝึกทำข้อสอบเก่าไปได้ในระยะหนึ่งจนมีความชำนาญแล้ว อยากให้จำลองสถานการณ์เสมือนอยู่ในห้องสอบจริง เพราะการฝึกทำข้อสอบอยู่ที่บ้านจะสร้างสมาธิได้ดีกว่าอยู่ข้างนอก โดยอาจจะไปนั่งตามห้องสมุดเป็นการจำลองสถานการณ์ที่อาจจะมีเสียงรบกวนบ้างในบ้างครั้ง หรือจะชวนเพื่อนมานั่งทำข้อสอบด้วยกันก็เป็นการฝึกให้เสมือนจริงมากขึ้น
เพิ่มเติมเทคนิคในการสอบแพทย์ให้สมจริง ให้ทำการปริ้นต์กระดาษคำตอบที่ยังไม่ได้ทำสัญลักษณ์ใดๆ ออกมา เพื่อใช้ในการฝนคำตอบ ที่สำคัญควรจับเวลาในการทำข้อสอบร่วมด้วย เพราะการจับเวลาจะช่วยให้รู้ได้ว่าแต่ละข้อใช้เวลาเท่าไร และเมื่อครบเวลาแล้วสามารถทำเสร็จทุกข้อหรือไม่ โดยในทุกๆ รอบของการฝึกฝนควรนำคะแนนที่ได้จากการทำโจทย์ในแต่ละรอบมาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้เห็นพัฒนาการหรือแนวทางการจัดการข้อสอบของตัวเอง

5. รู้จุดอ่อนของตัวเองและพยายามแก้ไข
รู้จุดอ่อนของตัวเองแล้วต้องรีบแก้ไข โดยให้สังเกตจากการฝึกทำโจทย์บ่อยๆ ว่าจุดไหนที่ทำแล้วไม่เข้าใจ หรือใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์นานมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะอย่าลืมว่าการสอบจะมีการจับเวลาด้วย การที่รับรู้จุดอ่อนของตัวเองไม่ได้หมายความว่า น้องๆ จะต้องกังวัลหรือรู้สึกกดดัน เพราะเมื่อรู้แล้วว่าจุดไหนที่ไม่ชำนาญก็ให้พยายามฝึกทำความเข้าใจต่อไปเรื่อยๆ หรืออาจจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น เพื่อนสนิท ครูที่โรงเรียน เป็นต้น

6. เรียนพิเศษเพิ่มเติม
ข้อดีของการเรียนพิเศษหรือลงคอร์สเตรียมสอบแพทย์ในสถาบันที่น่าเชื่อถือ และมีติวเตอร์เก่งๆ ที่มีประสบการณ์มานานหลายปี ทำให้น้องๆ ได้รับคำแนะนำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งในการเรียนการสอนพี่ๆ ติวเตอร์ก็จะมีวิธีลัดหรือเคล็ดลับที่จะทำให้เข้าใจเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังได้เทคนิคในการสอบแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิด การตีความหมายของโจทย์แต่ละแบบ ช่วยให้ทำข้อสอบและเลือกคำตอบได้อย่างแม่นยำ
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเรียนพิเศษไปแล้วก็ตาม เมื่อมีเวลาว่างหรือกลับบ้านมาแล้วก็ควรหยิบหนังสือหรือสิ่งที่จดไว้มาอ่านเพื่อเป็นการทบทวนอีกครั้ง และในการลงคอร์สเรียนพิเศษนี้ น้องๆ อาจจะเลือกเป็นรายวิชาได้ โดยให้เลือกวิชาที่ตัวเองไม่ถนัด ซึ่งก่อนเลือกเรียนพิเศษก็สามารถขอคำปรึกษากับสถาบันนั้นๆ ได้

7. หาเพื่อนร่วมติว
การมีบัดดี้หรือเพื่อนที่มีเป้าหมายในการเตรียมสอบหมอด้วยกัน จะยิ่งทำให้เกิด Passion ในการอ่านหนังสือและเตรียมตัวมากยิ่งขึ้น โดยในทุกๆ อาทิตย์หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจจะทำการนัดเพื่อนที่รู้ใจออกไปติวหนังสือ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และว่ากันว่าการทบทวนหนังสือด้วยการสอนหรือการอธิบายให้ผู้อื่นฟังจะยิ่งทำให้เข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การหาเพื่อนช่วยติวหนังสือเพื่อสอบเข้าแพทย์ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันอีกด้วย เพราะในบางมุมเพื่อนของเราอาจจะมีคำอธิบายหรือวิธีทำโจทย์แบบทางลัด เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่ายและจดจำได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ อยากอ่านหนังสือมากขึ้นอีกด้วย เห็นไหมว่าการอ่านหนังสือกับเพื่อนหรือช่วยกันติวนั้นมีประโยชน์มากๆ เลยทีเดียว
ในการเตรียมตัวเข้าคณะในฝันนั้น นอกจากการมีเทคนิคที่ดีแล้ว ยังจำเป็นต้องมีความพยายาม มีวินัยและความพร้อมที่จะลุยทำโจทย์หลายร้อยข้อ ถึงแม้ว่าการเตรียมตัวสอบเข้าคณะแพทย์จะต้องฝ่าฟันความเหนื่อยล้า ทั้งยังต้องอาศัยความอดทนพอสมควร แต่เชื่อได้เลยว่าหากถึงวันที่น้องๆ สามารถสอบเข้าแพทย์และเป็นหมอได้ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และได้รู้ว่าต่อให้หนทางยากเย็นแค่ไหน ขอแค่มีความพยายามก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ให้ท่องไว้เลยว่าความฝันครั้งนี้ไม่ไกลเกินเอื้อม!