ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ นอกจากคำศัพท์และไวยากรณ์พื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้อย่าง Tense ทั้ง 12 แล้ว หนึ่งในหลักไวยากรณ์ที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ Part of Speech การที่น้องๆ รู้จักหน้าที่หรือประเภทของคำจะช่วยให้การเรียนภาษาอังกฤษง่ายขึ้น และยังเป็นตัวที่ออกข้อสอบบ่อยอีกด้วย ดังนั้น Part of Speech เป็นสิ่งที่น้องๆ จำเป็นที่จะต้องรู้ไว้

ทำความรู้จักกับ Part of Speech ว่าคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ
Part of Speech คือ หน้าที่และประเภทของคำนั่นเอง การรู้ประเภทและหน้าที่ของคำจะทำให้การใช้ภาษาอังกฤษง่ายขึ้น น้องๆ จะรู้ว่าคำประเภทไหนใช้อย่างไร อยู่ส่วนไหนของประโยคและมีหน้าที่อะไรในประโยค เพื่อที่จะเลือกใช้ให้ถูกประเภทเพราะหากใช้ไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้การสื่อสารผิดเพี้ยนหรือได้ใจความที่ไม่สมบูรณ์ น้องๆ คนไหนอยากรู้ว่า Part of Speech มีอะไรบ้าง ก็ไปทำความรู้จักกับ Part of Speech ทั้ง 9 ประเภทกันเลย
9 ประเภทของ Part of Speech มีอะไรบ้าง
ในส่วนนี้พี่จะพาน้องๆ มาทำความรู้จักและเข้าใจก่อนว่า Part of Speech มีกี่ประเภท อะไรบ้าง? ซึ่ง Part of Speech นั้นมีทั้งหมด 9 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ Noun, Pronoun, Verb, Adjective, Adverb, Preposition, Conjunction และ Interjection ถ้าน้องๆ พร้อมแล้วดูกันเลยว่าแต่ละอย่างคืออะไร มีรายละเอียดและสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร

1. Noun (คำนาม)
Noun (คำนาม) คือคำที่บอกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ หรือไอเดีย เป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ สิ่งที่มักมาควบคู่กับคำนามก็คือคำนำหน้านาม (Determiner) ซึ่งก็คือ a, an, the คำนามมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป สามารถทำหน้าที่เป็นได้ทั้ง ประธาน กรรมตรง กรรมรอง ส่วนขยายประธานและกรรมของคำสันธาน ตัวอย่างคำนาม เช่น woman, office, enjoyment เป็นต้น แต่ว่าคำนามยังสามารถแยกประเภทออกไปได้อีก ซึ่งแต่ละประเภทก็มีลักษณะและวิธีการใช้ที่แตกต่างกันไป วันนี้จะมานำเสนอประเภทคำนามที่ควรรู้ไว้ ดังนี้
Common Noun
Common Noun (คำนามทั่วไป) เป็นคำนามที่ไม่เฉพาะเจาะจง ใช้แทนคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ทั่วๆ ไป แบบไม่เจาะจง เช่น nurse, boy, school, rabbit และ pencil เป็นต้น และ Common Noun สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ต่อไปนี้
Countable Noun
Countable Noun (นามนับได้) เป็นนามที่สามารถนับได้ และระบุจำนวนเป็นตัวเลขได้ว่ามีเท่าไร เป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ หากเป็นพหูพจน์ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการเติม -s หรือ -es ยกเว้นคำนามบางประเภทที่ใช้การเปลี่ยนรูปเมื่อเป็นพหูพจน์ ตัวอย่างคำนามนับได้ เช่น five books (หนังสือ 5 เล่ม), three friends (เพื่อน 3 คน) และ one pen (ปากกา 1 ด้าม)
Uncountable Noun
Uncountable Noun (นามนับไม่ได้) ก็คือคำนามที่ไม่สามารถนับ และระบุจำนวนเป็นตัวเลขได้ว่ามีเท่าไร คำศัพท์ที่เป็นคำนามอาจจะเป็นชื่อเรียกไอเดียที่เป็นนามธรรม คุณสมบัติ หรือสิ่งของต่างๆ ที่เล็กเกินไปหรือยากเกินไปที่จะนับ โดยนามนับไม่ได้จะเป็นเอกพจน์และไม่มีรูปพหูพจน์ ตัวอย่างเช่น water (น้ำ), air (อากาศ) knowledge (ความรู้) คงไม่มีน้องๆ คนไหนไปนั่งนับสิ่งเหล่านี้ใช่ไหมล่ะ เพราะมันนับไม่ได้นั่นเอง
Collective Noun
Collective Noun (สมุหนาม) คือ คำนามที่เป็นกลุ่มของคนหรือสิ่งต่างๆ ตัวอย่างสมุหนาม ก็อย่างเช่น family, herd, class, army, และ group เป็นต้น
Concrete Noun
Concrete Noun (วัตถุนาม) เป็นคำนามที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ประกอบไปด้วย การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส วัตถุนามเป็นคำนามที่ช่วยให้ผู้เรียนภาษาอังกฤษมีคลังคำศัพท์ที่ช่วยให้การพูดและการเขียนชัดเจนและมองเห็นภาพ ตัวอย่างวัตถุนาม ได้แก่ smoke, coffee, teacher, bitterness และ radio เป็นต้น
Abstract Noun
Abstract Noun (อาการนาม) เป็นคำนามที่ตรงข้ามกับ Concrete Noun (วัตถุนาม) เพราะอาการนามเป็นนามที่ไม่สามารถรับรู้หรือสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น แสดงถึงคุณสมบัติ สถานะ การกระทำ และความคิด เช่น sympathy, belief, love, hatred, และ ego เป็นต้น
Proper Noun
Proper Noun (คำนามชี้เฉพาะ) เป็นคำนามที่เป็นชื่อเฉพาะ ใช้เรียก คน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ สามารถสังเกตได้จากการใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ขึ้นต้นเสมอ เช่น
- ชื่อคน/สัตว์ : Richard, Jane, Peter, Kitty, Rocky
- แบรนด์สินค้า : Starbucks, Apple, Honda, Pandora, Gucci
- สถานที่ : Oxford University, Birmingham Palace, Europe, Greece, Bangkok
- วัน/เดือน/วันหยุด/เทศกาล : Monday, Friday, January, March, Valentine’s Day
- สัญชาติ : Thai, American, Chinese, Ghanaian, South African

2. Pronoun (คำสรรพนาม)
Pronoun (คำสรรพนาม) เป็นคำใช้แทนคำนาม คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำกับสิ่งที่กล่าวถึงไปแล้ว สามารถทำหน้าที่เป็นได้ทั้งประธานและกรรมในประโยค เช่น I, You, We, They, He, She, It แบ่งได้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1, 2 และ 3 คำสรรพนามสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทดังต่อไปนี้
Relative Pronoun
Relative Pronoun (ประพันธสรรพนาม) ทำหน้าที่ขยายประโยคให้ประธานหรือกรรมเพื่อเพิ่มรายละเอียด จะนำหน้า Relative Clause และเชื่อมประโยคที่สมบูรณ์แล้ว ประพันธสรรพนาม ก็มีคำว่า who, which, that, whom, whose, where และ when
Possessive Pronoun
Possessive Pronoun (สรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ) คือ สรรพนามที่บอกว่าอันนี้เป็นของคุณ อันนั้นเป็นของฉัน โดยประกอบไปด้วย mine, yours, his, hers, its, ours, theirs เป็นต้น
Reflexive Pronoun
Reflexive Pronoun (สรรพนามตนเอง/สะท้อน) ซึ่งเป็นคำที่สะท้อน Subject Pronoun (I, You, We, They, He, She, It) ก็คือจะใช้เมื่อประธานและกรรมเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนเดียวกัน สรรพนามตนเองจะมีคำว่า “self” หรือ “selves” ต่อท้าย เช่น myself, herself, himself, yourself, yourselves, themselves และ ourselves
Demonstrative Pronoun
Demonstrative Pronoun (สรรพนามบ่งชี้) สรรพนามที่เป็นสรรพนามบ่งชี้ก็คือ this, that, those, these, one, ones เพื่อบ่งบอกว่า อันนี้ อันนั้น อันนู้น เป็นสิ่งไหน อะไร
Interrogative Pronoun
Interrogative Pronoun (สรรพนามคำถาม) เป็นสรรพนามที่ใช้สำหรับตั้งคำถามในประโยคคำถาม ได้แก่คำว่า what, who, whom, whose, which เป็นต้น

3. Verb (คำกริยา)
Verb (คำกริยา) เป็นคำแสดงอาการ การกระทำของคำนามหรือคำสรรพนาม โดยมีหน้าที่แสดงการกระทำ ประสบการณ์ หรือสถานะว่าเป็นอย่างไร
Transitive Verb
Transitive Verb (สกรรมกริยา) เป็นกริยาที่จะมีใจความสมบูรณ์ได้ก็ต้องมีกรรมมารับ เช่นคำว่า love, buy, clean, send, take เป็นต้น
Intransitive Verb
Intransitive Verb (อกรรมกริยา) เป็นกริยาที่มีใจความสมบูรณ์ในตัวของมันเองโดยไม่ต้องมีกรรมมารองรับ เช่นคำว่า sit, stand, sleep, dance, cry เป็นต้น
Action Verb
Action Verb (กริยาบอกการกระทำ) หรือเรียกอีกอย่างว่า Dynamic Verb คือกริยาบอกการกระทำที่สามารถเติม -ing เพื่อแสดงการกระทำที่กำลังเกิดขึ้น แสดงการเคลื่อนไหว เป็นได้ทั้ง Transitive Verb และ Intransitive Verb
Linking Verb
Linking Verb เป็นกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารองรับ เป็นรูปแบบหนึ่งของ verb to be แต่กริยากลุ่มนี้ต้องการคำคุณศัพท์หรือคำนามมาเป็นส่วนเติมเต็ม เช่น คำว่า seem, look, sound, stay, remain และ verb to be ต่างๆ เป็นต้น
Helping Verb
Helping Verb หรือ กริยาช่วย มีหน้าที่ช่วยเติมเต็มให้ประโยคสมบูรณ์ในกรณีที่กริยาหลักไม่สามารถทำให้ประโยคสมบูรณ์ได้ ประกอบไปด้วยกริยากลุ่ม verb to be, verb to have, verb to do และ กริยากลุ่ม Modal Auxiliaries (will, would, shall, should, may, might, must, ought to)

4. Adjective (คำคุณศัพท์)
Adjective มีหน้าที่ขยายคำนาม เป็นการบ่งบอกว่าสิ่งเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ประเภทของ Adjective มีดังนี้
Comparative Adjectives
Comparative Adjectives เปรียบเทียบขั้นกว่าของสิ่งสองสิ่งที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ โดยอาจจะเป็นการเติม -er ต่อท้ายคำ เช่น smaller than และ bigger than หรือการเติม more / less ด้านหน้า เช่น more beautiful than และ less popular than
Superlative Adjectives
Superlative Adjectives คือการเปรียบเทียบขั้นสุดของกลุ่มคนหรือสิ่งของที่มีจำนวนตั้งแต่ 3 ขึ้นไป โดยการเติม -est ต่อท้ายคำ หรือการเติม most หรือ least หน้าคำนั้นๆ เช่น the strongest, the most expensive และ the least intelligent เป็นต้น
Possessive Adjectives
Possessive Adjectives เป็นคุณศัพท์แสดงความเป็นเจ้าของของคำนาม การใช้คุณศัพท์แสดงความเป็นเจ้าของจะต้องมีคำนามตามหลังด้วยเสมอ คำคุณศัพท์ที่แสดงความเป็นเจ้าของ ประกอบไปด้วยคำว่า my, your, our, his, her, its และ their
Demonstrative Adjectives
Demonstrative Adjectives (คำคุณศัพท์ชี้เฉพาะ) มีหน้าที่ขยายคำนามเพื่อแสดงให้เห็นว่าคำนามนั้นเป็นสิ่งไหน คำเหล่านั้นก็คือ this, that, these และ those
Descriptive Adjectives
Descriptive Adjectives (คำคุณศัพท์บอกลักษณะ) จะเข้ามามีบทบาทในประโยคเมื่อเมื่อจะอธิบายว่าคนหรือสิ่งต่างๆ ที่พูดถึงมีลักษณะอย่างไร ตัวอย่างคำเช่น good, bad, tall, cold และ fluffy เป็นต้น
Interrogative Adjectives
Interrogative Adjectives เป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้กับประโยคคำถาม จะอยู่ที่ต้นประโยค โดยมีคำนามตามหลัง ตัวอย่างคำเช่น what, which, whose
Distributive Adjectives
Distributive Adjectives (คุณศัพท์แบ่งแยก) มีหน้าที่ขยายคำนามและแยกนามออกจากกันเป็นอันหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง ตัวอย่างคำคุณศัพท์กลุ่มนี้คือ every, each, either และ neither
Numeral Adjective
Numeral Adjective (คำคุณศัพท์บอกจำนวนแน่นอน) แบ่งได้เป็น 3 ชนิด
- Cardinal Numeral Adjective ใช้ขยายนามเพื่อบอกลำดับ คือ one, two, three…
- Ordinal Numeral Adjective ใช้ขยายนามเพื่อบอกลำดับ ตัวอย่างเช่น first, second, third…
- Multiplicative Adjective คือ คุณศัพท์บอกจำนวนทวีของนาม ก็คือการบอกว่านามนั้นมีจำนวนกี่เท่า เช่น double, triple เป็นต้น

5. Adverb (คำกริยาวิเศษณ์)
Adverb (คำกริยาวิเศษณ์) มีหน้าที่ขยายคำกริยาและคำคุณศัพท์ เป็นตัวขยายว่าประธานนั้นมีการกระทำกริยานั้นอย่างไร วิธีสังเกตคำกริยาวิเศษณ์ก็คือมักจะลงท้ายด้วย -ly และจะวางอยู่ด้านหน้าหรือหลังคำกริยา
Adverb of Manner
Adverb of Manner (กริยาวิเศษณ์บอกลักษณะอาการ) ใช้เพื่อแสดงว่าประธานมีการกระทำกริยาในลักษณะใด อารมณ์ความรู้สึกแบบไหน เช่น angrily, calmly และ easily เป็นต้น
Adverb of Time
Adverb of Time (คำกริยาวิเศษณ์บอกเวลา) ใช้บอกว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด เช่น before, after, since, ago และ yesterday เป็นต้น
Adverb of Place
Adverb of Place (กริยาวิเศษณ์บอกสถานที่) ใช้เมื่อต้องการบอกว่าการกระทำกริยานั้นเกิดขึ้นที่ไหน เช่น above, under, somewhere, there และ along เป็นต้น
Adverb of Frequency
Adverb of Frequency (กริยาวิเศษณ์บอกความถี่) ใช้เพื่อบอกความถี่ของการกระทำ เช่นคำว่า often, every day, rarely, never และ again เป็นต้น

6. Preposition (คำบุพบท)
Preposition (คำบุพบท) คือคำที่ใช้บอกตำแหน่ง ทิศทาง สถานที่แสดงความสัมพันธ์ ใช้เชื่อมคำนาม คำสรรพนาม และคำกริยา
Simple Preposition
Simple Preposition คือ คำบุพบทที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ เป็นคำเดียว เช่น in, on, at, from, up และ with เป็นต้น
Double Preposition
Double Preposition หรือ Compound Preposition คือคำบุพบทผสม มีมากกว่า 1 คำ เช่น next to, up to, into, within และ out of เป็นต้น
Compound Preposition
Compound Preposition คือ คำบุพบทที่เกิดจากการผสมคำ โดยการเติมคำนำหน้าอย่าง prefix เข้าไป เช่น across, outside, throughout, beneath และ beyond เป็นต้น
Participle Preposition
Participle Preposition เป็นบุพบทที่มีคำลงท้ายด้วย -ing, -en หรือ -ed เช่น excluding, regarding, considering, given และ provided เป็นต้น
Prepositions of Time
Prepositions of Time ก็คือคำบุพบทบอกเวลาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของคำนามและส่วนอื่นของประโยค เช่น at, in, on, since และ till เป็นต้น
Prepositions of Place
Prepositions of Place คือคำบุพบทบอกสถานที่ และบอกตำแหน่งของบุคคลหรือสิ่งของ โดยใช้คำบุพบทอย่าง in, on และ at เช่น at the corner, in a building และ on the floor เป็นต้น

7. Conjunction (คำสันธาน)
Conjunction คือ คำสันธานหรือเรียกง่ายๆ ว่าคำเชื่อม อาจจะเป็นคำหรือวลีที่ทำหน้าที่เชื่อมคำ วลี และประโยคเข้าด้วยกัน คำเชื่อมในภาษาอังกฤษ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทด้วยกันคือ
Subordinating Conjunction
Subordinating Conjunctions มีหน้าที่เชื่อมประโยคหลักเข้ากับประโยคย่อย คำสันธานในกลุ่มนี้จะอยู่ที่หน้าประโยคหรือตรงกลางก็ได้ ตัวอย่างคำเชื่อมเช่น although, whenever, as soon as, whereas และ unless เป็นต้น
Coordinating Conjunction
หากใครเคยเรียนเรื่อง Coordinating Conjunction ในชั้นเรียนมาแล้ว คุณครูคงน่าจะสอนสูตร FANBOY กันมาแล้ว ซึ่งประกอบด้วย For, And, Nor, But, Or, Yet, So นั่นเอง ซึ่ง Coordinating conjunction นำไปใช้เชื่อมคำ วลี หรือประโยคที่เป็นประเภทเดียวกัน หรือมีความสำคัญเท่ากัน
Correlative Conjunction
Correlative Conjunction คือคำสันธานที่ต้องใช้คู่กันเสมอ โดยคำ วลีหรือประโยคที่นำมาเชื่อมต้องเป็นคำที่เป็นประเภทเดียวกันหือมีน้ำหนักและความสำคัญพอกัน เช่น both…and, either…or, neither…nor, not only…but also และ so…that เป็นต้น

8. Interjection (คำอุทาน)
คำอุทาน คือคำพูดแสดงอารมณ์ความรู้สึกตามที่ตนเองรู้สึกในขณะนั้นๆ อย่างเช่นความรู้สึกดีใจ เสียใจ แสดงความยินดี และไม่ได้มีผลทางด้านไวยากรณ์ในประโยค มักใช้คู่กับเครื่องหมายอัศเจรีย์ เช่น oh!, good job!, ah ha!, good grief!, และ wow! เป็นต้น

9. Determiner (คำนำหน้านาม)
Determiner หรือ คำนำหน้านาม เป็นคำที่วางไว้หน้าคำนามเพื่อบอกปริมาณ จำนวน และบอกลักษณะ โดยคำนำหน้านามสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
Article Determiner
Article Determiner ใช้บอกจำนวนหรือปริมาณ ซึ่งก็คือคำว่า a, an, the นั่นเอง โดย a และ an ใช้นำหน้าคำนามนับได้ที่เป็นเอกพจน์ เช่น a dog, a cat และ an umbrealla ส่วน the ใช้ในกรณีที่กล่าวถึงนามนั้นอีกครั้ง ใช้ได้ทั้งนามนับได้และนามนับไม่ได้ ทั้งที่เป็นเอกพจน์และพหูพจน์
Demonstrative Determiner
Demonstrative Determiner คือ คำนำหน้านามชี้เฉพาะ ประกอบไปด้วยคำว่า this, that, these, those
Quantifier Determiner
Quantifier Determiner ทำหน้าที่บอกปริมาณและจำนวน เช่นคำว่า many, more, most, much, any, some และ little เป็นต้น
Possessive Determiner
Possessive Determiner หรือก็คือ Possessive Adjective ซึ่งได้แก่คำว่า my, your, his, her, its, our และ their
สรุปการเรียนรู้ Part of Speech คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจหน้าที่ของคำต่างๆ ในภาษาอังกฤษได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการสื่อสารทั้งในแง่การเรียน การทำงาน หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย นอกจากนั้น สำหรับใครที่อยากได้เทคนิคภาษาอังกฤษดีๆ เพื่อนำไปใช้งานได้จริง ขอแนะนำคอร์สเรียนปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษ Pre-Inter จาก InterPass ที่จะทำให้ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป