คำศัพท์ เป็นพื้นฐานของภาษา และมีความสำคัญในการช่วยพัฒนาทุกทักษะ ไม่ว่าจะเป็น การฟัง การพูด การอ่าน หรือการเขียน ยิ่งเรารู้คำศัพท์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพัฒนาทักษะทั้งสี่ด้านได้ดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ไม่ว่าน้องๆ จะกำลังเตรียมตัวไปสอบวัดระดับภาษาอังกฤษที่สนามสอบไหน การแพ็คคำศัพท์ติดตัวไปให้แน่น แม่น เป๊ะ จะเป็นตัวเพิ่มคะแนนให้ได้อย่างแน่นอน
ได้ยินคำว่าคำศัพท์แล้วก็อย่าเพิ่งท้อใจไป การจำศัพท์ให้ได้ไม่ยากอย่างที่คิด ลองมาดูเทคนิคการจําคำศัพท์ให้ได้ผลดีกันเถอะ

เทคนิค 1: อยากจำ ให้นำศัพท์ไปใช้
เทคนิคการจําคำศัพท์เทคนิคแรกคือ เมื่อเรียนรู้คำศัพท์ใหม่แล้ว แทนที่จะจำเป็นคำเดี่ยวๆ ให้นำไปแต่งประโยคจริง โดยเปิดพจนานุกรมเพื่อดูตัวอย่างการใช้คำศัพท์คำนั้นในประโยค พยายามใช้ Collocation หรือกลุ่มคำที่มักใช้ร่วมกันกับคำศัพท์คำนั้นๆ ร่วมด้วย โดยน้องๆ สามารถหา Collocation ได้จากเว็บไซต์พจนานุกรมต่างๆ เช่น
ยกตัวอย่าง คำว่า Effort (n.) ที่หมายถึง ความพยายาม มี Collocation คือ Make (v.) นั่นคือ สองคำนี้มักจะใช้คู่กันเป็นคำว่า Make an effort (pv.) เมื่อเรียนรู้คำนี้แล้วอาจลองแต่งประโยคเก็บไว้ เช่น I should make an effort to get out more. (ฉันควรพยายามออกไปข้างนอกมากกว่านี้นะ) หรือคำว่า Constrain (n.) ที่หมายถึง ข้อจำกัด มี Collocation คือ Impose, Place, Put (v.) แปลว่าสองคำนี้มักใช้ด้วยกัน เมื่อเรียนรู้ศัพท์คำนี้แล้วอาจแต่งประโยคเก็บไว้ เช่น This will put a constrain on freedom of expression in Hong Kong. (สิ่งนี้จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในฮ่องกง)
ข้อดี: วิธีนี้ทำให้จำคำศัพท์ได้ดีขึ้น เข้าใจบริบทของคำ และใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น บอกได้เลยว่าเป็นประโยชน์ต่อวิธีการเขียน Essay หรือเรียงความภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก

เทคนิค 2: จับคู่คำ จำเป็นชุด
อีกหนึ่งวิธีท่องศัพท์ให้จําได้ดีที่หลายๆ คนใช้กัน ก็คือการจำคำศัพท์พร้อมกับคำคล้าย (Synonym) หรือคำที่มีความหมายตรงข้าม (Antonym) ของคำศัพท์คำนั้นไปพร้อมๆ กัน วิธีนี้จะยิ่งใช้ได้ผลดีกับคำศัพท์ที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น คำว่าถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถท่องยกชุดได้ว่า legal, lawful, legitimate, licit ถูกต้องตามกฎหมาย illegal, unlawful, lawless, illegitimate, illicit ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อดี: วิธีนี้ทำให้สามารถจำได้ทีละหลายๆ คำ มีคลังคำศัพท์สำหรับนำมาใช้ให้หลากหลายเมื่อพูดหรือเขียนได้มากขึ้น
ข้อควรระวัง: สำหรับคำที่มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน มักมีความแตกต่างในเรื่องของบริบทหรือการนำไปใช้ บางคำไม่สามารถใช้แทนกันได้ ระหว่างที่จำคำศัพท์จึงควรศึกษาไปด้วยว่าแต่ละคำมีความแตกต่างกันอย่างไร โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ Wikidiff ซึ่งเป็นพจนานุกรมที่สามารถใช้ค้นหาความแตกต่างของคำศัพท์ได้

เทคนิค 3: ฟัง พูด อ่าน เขียนจัดเต็ม
เวลาเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ลองฟังคำอ่านออกเสียงที่ถูกต้องจากพจนานุกรม ออกเสียงตาม และเขียนลงสมุดบันทึกขณะที่ออกเสียงตามไปด้วย วิธีท่องศัพท์ให้จำได้วิธีนี้ใช้มานานและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมาก
ข้อดี: เทคนิคการจําคำศัพท์เทคนิคนี้จะทำให้น้องๆ ได้ทั้งสี่ทักษะในคราวเดียว! แน่นอนว่าการฝึกออกเสียงภาษาอังกฤษตามไปด้วยจะช่วยให้ออกเสียงชัดขึ้น นอกจากนั้น เมื่อสมองจดจำทั้งเสียง และภาพไปพร้อมๆ กัน สมองจะสามารถเชื่อมโยงทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกันได้ ส่งผลให้จำได้ดีขึ้นอีกด้วย

เทคนิค 4: ใช้แฟลชการ์ดคำศัพท์
แฟลชการ์ดเป็นเทคนิคการจําคำศัพท์คลาสสิกที่ใช้ได้ผลดี เพียงแค่เขียนคำศัพท์ไว้ด้านหนึ่ง และคำแปลไว้อีกด้าน จากนั้นดูว่าสามารถอธิบายคำแปลของคำศัพท์ หรือทายคำศัพท์จากคำแปลได้ไหม
ข้อดี: วิธีนี้เป็นการทดสอบตัวเอง ทำให้รู้ทันทีว่าคำไหนจำได้หรือยังไม่ได้ คำไหนที่จำได้แล้วก็สามารถแยกไปไว้อีกกอง และหันไปโฟกัสคำศัพท์ที่ยังจำไม่ได้แทน ช่วยประหยัดเวลาได้ด้วย เป็นวิธีท่องศัพท์ให้จําได้ที่มีประโยชน์มากอีกวิธีหนึ่ง

เทคนิค 5: แปะโพสต์อิทช่วยจำศัพท์
แค่เขียนคำศัพท์ใส่โพสต์อิทน่ารักๆ แล้วแปะไว้ตามเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ที่เห็นเป็นประจำ หรือใช้งานบ่อย เช่น โต๊ะ ตู้ ประตู คอมพิวเตอร์ ก็จะช่วยให้คุ้นเคยกับคำนั้นๆ ไปเองโดยธรรมชาติ เรียกว่าเป็นเทคนิคการจําคำศัพท์ที่ทำง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง
ข้อดี: เมื่อเห็นคำศัพท์บ่อยๆ ก็จะเริ่มจดจำได้เองโดยไม่ต้องนั่งท่องจำ อีกทั้งการจำได้จากการเห็นบ่อยๆ นั้นยังเป็นความทรงจำระยะยาวอีกด้วย

เทคนิค 6: เล่นเกมมันส์ จำคำศัพท์ได้ดี
ใครที่มองหาเทคนิคการจําคำศัพท์สนุกๆ อยู่ ขอแนะนำวิธีจำคำศัพท์ด้วยการเล่นเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมคลาสสิกเล่นง่ายๆ เช่น จับคู่คำกับความหมาย Hangman Crossword หรือจะเล่นเกมออนไลน์จากเว็บ หรือแอปพลิเคชันก็สนุกได้ไม่แพ้กัน เกมออนไลน์ที่น่าสนใจ เช่น
- Ruzzle แอปพลิเคชันเกมปริศนาคำศัพท์หลากหลายเกม
- Wordle อีกหนึ่งเกมลับสมองยอดฮิต ที่ผู้เล่นจะต้องทายคำศัพท์ให้ได้ภายใน 5 ครั้ง จุดเด่นของเกมนี้คือมีให้เล่นแค่ 1 ครั้งต่อวัน พอเฉลยแล้วก็อาจได้ศัพท์ที่ไม่เคยรู้มาเพิ่มในคลังด้วย
ข้อดี: เพิ่มความสนุกให้กับการเรียนรู้ เพราะเวลาที่น้องๆ เบื่อก็อาจหมดกำลังใจในการทบทวนได้ การเล่นจะช่วยให้ผ่อนคลายขึ้น และมีแรงเริ่มต้นเรียนรู้ต่ออีกครั้ง

เทคนิค 7: ทบทวนคำศัพท์เป็นช่วงๆ ตามหลัก Space Repetition
การทบทวนก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีท่องศัพท์ให้จําได้ที่สำคัญไม่แพ้การเรียนรู้ นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน แฮร์มันน์ เอบบิงเฮาส์ (Hermann Ebbinghaus) ผู้บุกเบิกการศึกษาด้านความจำได้วิจัยเอาไว้ว่า โดยปกติหลังจากเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ เมื่อเวลาผ่านไปความทรงจำก็จะถดถอยลงตามธรรมชาติ จึงต้องใช้วิธีคงความจำที่เรียกว่า Space Repetition หรือการทบทวนเป็นช่วงๆ นั่นเอง ได้แก่
- ทบทวนหลังจากเรียนทันที
- ทบทวนหลังจากเรียนไปแล้ว 24 ชั่วโมง
- ทบทวนภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น
- ทบทวนภายในหนึ่งเดือนหลังจากนั้น
หลักการเหล่านี้เป็นหลักการที่ได้รับการวิจัยมาแล้วว่าช่วยลดการสูญเสียความจำในสิ่งที่เรียนรู้ไป
ข้อดี: เป็นวิธีสร้างความทรงจำระยะยาวที่วิทยาศาสตร์การันตีผลลัพธ์

เทคนิค 8: ใช้เทคนิคการจําคำศัพท์แบบ Mnemonic
Mnemonic เป็นเทคนิคการจําคำศัพท์ที่ช่วยเปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว โดยอาศัยการจำผ่านการเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งต่างๆ ขอบอกเลยว่าที่ InterPass เองก็ได้นำหลักการจำคำศัพท์แบบ Mnemonic นี้มาประยุกต์เพื่อให้เข้ากับบริบทคนไทยโดยเฉพาะ และเฟ้นหาทุกวิธีเพื่อให้การเรียนคำศัพท์ของทุกคนเป็นเรื่องสนุกได้แบบไม่มีกั๊ก จนกลายมาเป็นหนังสือ Memologic ที่จะช่วยให้ทุกคนจำคำศัพท์หลายพันคำได้อย่างรวดเร็วขึ้น ฟังดูแล้วน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยใช่ไหม ไปดูตัวอย่างวิธีแบบ Mnemonic กันเลยดีกว่า
- มองหาความเหมือน: หาสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกับสิ่งที่รู้จักอยู่แล้วในคำศัพท์ แล้วจินตนาการเชื่อมโยง อาจเป็นการออกเสียงคล้ายกัน หรือคำข้างในมีความเกี่ยวข้องกับคำอื่น เช่น
- คำว่า Invest (ลงทุน) อาจจินตนาการเรื่องว่า ถ้าหากเก็บเงินไว้ใน(in) เสือกั๊ก(vest) ก็จะไม่ได้ลงทุน (invest)
- คำว่า Cogent (ที่โน้มน้าวจิตใจ) เห็นคำว่า gent อาจจะนึกถึงคำว่า gentle แล้วเชื่อมโยงว่าคนสุภาพสามารถโน้มนาวใจคนอื่นได้
- คำว่า Trill (หวาดเสียว, ตื่นเต้น) เชื่อมโยงว่าออกเสียงคล้ายกับคำว่า หวิว ในภาษาไทย ซึ่งคำว่าหวิวก็ชวนให้นึกถึงเรื่องหวาดเสียวเช่นกัน
- จำตัวย่อ: กรณีจำเป็นชุด หรือเป็นหมวด ใช้ตัวอักษรแรกช่วย เช่น My Very Educated Mother Just Served Us Noodles เป็นประโยคที่นิยมใช้จำชื่อภาษาอังกฤษและลำดับของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ได้แก่ Mercury (ดาวพุธ), Venus (ดาวศุกร์), Earth (โลก), Mars (ดาวอังคาร), Jupiter (ดาวพฤหัส), Saturn (ดาวเสาร์), Uranus (ดาวยูเรนัส), และ Neptune (ดาวเนปจูน)
- คล้องจอง: การจำคำศัพท์กับความหมายให้คล้องจองกัน เช่น ไม้กวาด-broom, groom-เจ้าบ่าว
- ร้องเพลง: ร้องคำศัพท์ที่ต้องการจำเป็นเพลงก็ช่วยให้จดจำได้ดี ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เพลง ABC หรือเพลงนับเลขที่ทุกคนอาจจะเคยเรียนกันตอนเด็กๆ นั่นเอง ใครที่มีใจรักในเสียงเพลง ลองหาเพลงจำคำศัพท์เพราะๆ ไว้ร้องเล่น รับรองว่าจำศัพท์ได้ขึ้นใจ
ข้อดี: เป็นวิธีท่องศัพท์ให้จําได้ที่ทั้งสนุกสนาน ทำให้ยิ่งจำแม่น นอกจากนั้น การใช้ Mnemonic สร้างความเชื่อมโยงจะช่วยให้จำคำศัพท์ยาวๆ ยากๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

เทคนิค 9: ใช้เทคนิคจำจากรากศัพท์ (Roots)
ภาษาอังกฤษมีวิวัฒนาการมาจากภาษากรีกและภาษาละติน ทำให้มีคำกรีกและละตินเป็นหน่วยคำอยู่ในคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากมาย เรียกกันว่า ‘รากศัพท์’ ถ้าหากเข้าใจความหมายของรากศัพท์ก็จะทำให้สามารถจดจำคำศัพท์ที่มีที่มาจากรากศัพท์นั้นได้แม่นยำขึ้น และเดาความหมายคำศัพท์ที่มีรากศัพท์นั้นๆ ได้ด้วย มาดูวิดิโอเสริมความเข้าใจของรากศัพท์กันเถอะ!
Video InterPass: https://www.youtube.com/watch?v=GhchCU9loEE
ตัวอย่างรากศัพท์ที่พบบ่อยอื่นๆ เช่น
- Auto เป็นรากศัพท์ที่แปลว่า ตนเอง คำที่มีรากศัพท์นี้ เช่น Autonomy (การปกครองตนเอง, อิสระ), Autocrat (ผู้มีอำนาจเด็ดขาด), Automatic (อัตโนมัติ)
- Aqua เป็นรากศัพท์ที่แปลว่า น้ำ คำที่มีรากศัพท์นี้ เช่น Aquarium (พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ), aquamarine (สีน้ำทะเล), Aquatic (พืชหรือสัตว์น้ำ, ที่เกี่ยวกับทะเล)
- Dict เป็นรากศัพท์ที่แปลว่า การพูด คำที่มีรากศัพท์นี้ เช่น Diction (วิธีพูดหรือวิธีเขียน), Dictate (สั่งการ), Edict (คำสั่ง)
- Micro เป็นรากศัพท์ที่แปลว่า เล็ก คำที่มีรากศัพท์นี้ เช่น Microbiology (จุลชีววิทยา), Microscope (กล้องจุลทรรศน์), Microorganism (จุลินทรีย์)
ข้อดี: เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการจําคำศัพท์ที่ไม่ต้องนั่งท่อง แต่สามารถจำคำศัพท์ได้เป็นจำนวนมาก และยังสามารถเดาความหมายของคำศัพท์ที่ไม่เคยเห็นได้ใกล้เคียงกับความหมายจริงอีกด้วย
สรุป
จบไปแล้วสำหรับวิธีท่องศัพท์ให้จําได้ทั้งหมด 9 วิธี น้องๆ สามารถเลือกเทคนิคการจําคำศัพท์ที่ถูกใจและเหมาะกับสไตล์ เก็บไว้เอาไปเพิ่มคะแนนสอบด้วยคำศัพท์กันได้เลย และถ้าหากน้องๆ คนไหนไม่มั่นใจว่า คำศัพท์เยอะแบบนี้จะเริ่มจำจากตรงไหนก่อนดีนะ ไม่ต้องกังวลไป InterPass ทำการรวบรวมคำศัพท์ที่ออกสอบบ่อยๆ ในแต่ละสนามสอบไม่ว่าจะเป็น IELTS, SAT หรือ CU-TEP มาช่วยน้องๆ อีกแรงด้วย Memologic โดยประยุกต์จากเทคนิค Mnemonic และรากศัพท์เข้ามาช่วยให้จำแม่นขึ้นไปอีก เรียกว่าอัดแน่นไปทั้งความสนุกและสาระเน้นๆ พร้อมแล้วก็คลิกที่นี่ แล้วไปลุยกันเลย!