BLOG

    Home Blog SAT ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการสอบ SAT ใครอยากเรียนภาคอินเตอร์ต้องรู้

ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการสอบ SAT ใครอยากเรียนภาคอินเตอร์ต้องรู้

สอบ SAT ที่คนอยากเรียนภาคอินเตอร์ต้องรู้

ข้อสอบ SAT ย่อมาจาก Scholastic Aptitude Test เป็นข้อสอบที่มุ่งทดสอบความสามารถในเชิงวิชาการด้านภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ที่เน้นการใช้เหตุและผลเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ประกอบการรับเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ภาคอินเตอร์หลายๆ แห่งในไทยก็นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการรับนักศึกษาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นข้อสอบที่ได้มาตราฐานสากล สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า ข้อสอบ SAT คืออะไร และ SAT สอบอะไรบ้าง รวมถึง แนวข้อสอบ SAT แต่ละส่วนนั้นเป็นอย่างไร บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ SAT ให้มากขึ้น

การสอบ SAT คืออะไร

การสอบ SAT คืออะไร

การสอบ SAT เป็นการสอบที่ใช้วัดความถนัดในวิชาคณิตศาสตร์ (Mathematics) และภาษาอังกฤษ (Reading & Writing) ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่จัดขึ้นโดย College Board ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้วิจัยและพัฒนาข้อสอบ SAT อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับ และเป็นมาตรฐานสากลในปัจจุบัน 

ข้อสอบ SAT ไม่ได้เน้นการทดสอบความรู้ด้านภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นข้อสอบที่เน้น ‘Thinking Skills’ หรือทักษะในการคิด ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถช่วยให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจความเชื่อมโยงของข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้ นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาที่จะประสบความสำเร็จในระดับมหาวิทยาลัยได้ การมีทักษะในการคิด การอ่านเชิงวิเคราะห์ การใช้เหตุผล การเขียน และคณิตศาสตร์นั้นมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทำให้หลายๆ ประเทศ รวมถึง ประเทศไทยได้นำผลการสอบ SAT มาเป็นเกณฑ์พิจารณาในการรับเข้าศึกษาต่อ โดยเฉพาะภาคอินเตอร์ชั้นนำในประเทศไทย

แนวข้อสอบ SAT มีอะไรบ้าง

SAT สอบอะไรบ้าง

ข้อสอบ SAT เป็นข้อสอบที่ประกอบไปด้วย 2 พาร์ท คือ พาร์ทที่เป็น Math กับพาร์ทที่เป็น Evidence-based Reading & Writing ซึ่งจะเป็นข้อสอบการอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษ มีเวลาในการทำข้อสอบทั้งหมด 3 ชั่วโมง โดยคะแนนเต็มพาร์ทละ 800 คะแนน รวม 1,600 คะแนน ดังนี้

Evidence-based Reading & Writing

ในส่วนของพาร์ท  Evidence-based Reading & Writing ให้เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 40 นาที โดยแบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ชุด คือ Reading จำนวน 52 ข้อ และ Writing and Language จำนวน 44 ข้อ จาก 4 บทความ

1.Reading

พาร์ท Reading จะมีเวลาในการทำข้อสอบทั้งหมด 1 ชั่วโมง 5 นาที จำนวน 52 ข้อ ซึ่งแนวข้อสอบ SAT ประกอบไปด้วยบทความตามหัวข้อต่างๆ เช่น วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ บางครั้งอาจจะเป็นสุนทรพจน์ (Speech) ของคนดัง ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นบทความคู่ หรือ Paired Passage โดยหัวใจในการอ่านบทความมี 2 ข้อหลักๆ คือ

  • Command of Evidence คือ การสนับสนุนใจความโดยใช้ข้อความที่คัดมากจากบทความ โดยคำถามจะมีทั้งถามความเข้าใจในการอ่าน ถามถึงประโยคที่สนับสนุนใจความดังกล่าว ซึ่งในข้อสอบ SAT จะมีการกำหนดเลขบรรทัด หรือ Line Reference มาให้ เราสามารถนำเลขบรรทัดมาใส่ในคำตอบได้เลย ว่าดูจากบรรทัดใด
  • Words in Context คือ การวัดความรู้ด้านคำศัพท์แบบลึก ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแบ่งการรู้คำศัพท์ออกเป็น 2 ประเภท คือ Breadth (รู้แบบผิวเผิน) และ Depth (รู้แบบลึก) สำหรับข้อสอบ SAT จะเน้นวัดความรู้ลึกมากกว่า ว่าศัพท์คำนี้ใช้อย่างไร และเหมาะกับบริบทใด (Depth of Vocabulary Knowledge) คำศัพท์ที่นำมาถามจะเป็นคำที่พบเจออยู่ทั่วไป แต่มีความหมายที่หลากหลาย ยกตัวอย่าง เช่น คำว่า Low (Adj) ที่มีความหมายว่า “ขั้นต่ำ” แต่ในบางบริบทอาจแปลว่า “ไม่สำคัญ” เป็นต้น

2.Writing and Language 

การทดสอบในส่วน Writing and Language คณะกรรมการจะสนใจเรื่องของการเขียนในหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับประโยค โดยจะดูความถูกต้องในหลายๆ ด้าน เช่น ความถูกตามหลักไวยากรณ์ การใช้เครื่องหมายเว้นวรรค การเลือกใช้คำศัพท์ให้ตรงตามบริบท และความหมาย รวมไปถึง การย่อหน้า (Paragraph Writing) ว่ามีการจัดเรียงเนื้อหาได้สอดคล้องกันหรือไม่ โดยโจทย์อาจจะให้เราย้ายประโยค เพื่อปรับปรุงใจความของย่อหน้านั้นๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังทดสอบเรื่องการใช้ข้อมูลอีกด้วย เช่น ข้อมูลจากกราฟ หรือตารางช่วยสนับสนุนใจความหรือไม่ ซึ่งใจความหลักๆ ของข้อสอบพาร์ทมีดังนี้

  • Command of Evidence เป็นการปรับ ลด หรือเพิ่มบทความ ด้วยข้อความที่มีผลต่อความเข้าใจบทความนั้น
  • Words in Context เลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมกับบริบทและความหมายในการเขียน
  • Analysis in History / Social Studies and in Science ทักษะการวิเคราะห์ในหัวข้อประวัติศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ที่ส่งผลต่อเนื้อหา
  • Expression of Ideas เป็นการนำเสนอข้อมูล ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะให้ปรับ เปลี่ยน หรือจัดเรียงเนื้อหาในการนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจหรือมีเนื้อความที่สมบูรณ์มากขึ้น
  • Standard English Conventions ปรับและเปลี่ยนคำหรือใจความที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษแบบมาตรฐาน

Math 

สำหรับข้อสอบในส่วนนี้ ให้เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 20 นาที จำนวน 58 ข้อ คะแนนเต็ม 800 โดยแบ่งข้อสอบเป็น 2 ชุด คือ

  1. Math Test – No Calculator ในส่วนของพาร์ทแรกนี้ไม่สามารถใช้เครื่องคิดเลขได้ โดยข้อสอบจะมี 20 ข้อ 25 นาที โดย ข้อ 1 – 15 เป็นปรนัย และข้อ 16 – 20 เป็นอัตนัย
  2. Math Test – Calculator ในส่วนนี้สามารถใช้เครื่องคิดเลขได้ ซึ่งจะต้องเป็นเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ (Scientific Calculator) ที่สามารถใช้คำนวณได้ และต้องเป็นรุ่นที่ทาง College Board อนุญาตเท่านั้น สำหรับพาร์ทนี้ข้อสอบจะมี 38 ข้อ 55 นาที ข้อ 1 – 30 เป็นปรนัย และข้อ 31 – 38 เป็นอัตนัย

Essay (Optional)

สำหรับบางมหาวิทยาลัยอาจจะต้องการคะแนน SAT Essay ด้วย ซึ่งการคิดคะแนนในส่วนนี้จะไม่มีการนำมาคำนวณรวมกับพาร์ท Math และพาร์ท Evidence-based Reading & Writing ในส่วนของข้อสอบ Essay จะมีทั้งหมด 2 ข้อ โดยใช้เวลาสอบ 50 นาที ซึ่งจะมีเวลาทำข้อละ 25 นาที

SAT Subject Tests ต้องสอบอะไรบ้าง

SAT Subject Tests สอบอะไรบ้าง

ข้อสอบ SAT Subject Tests หรือเรียกว่า SAT II เป็นข้อสอบที่มีความเฉพาะทางมากกว่า SAT มีจำนวนวิชาให้เลือกสอบหลายวิชามากกว่า เช่น Math Level II, Physics, Chemistry, English Literature, US History, World History และ Languages เป็นต้น ซึ่งในแต่ละวิชามีคะแนนเต็ม 800 คะแนน สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์บางมหาวิทยาลัยเคยขอคะแนน SAT Math Level II, SAT Physics และ SAT Chemistry สำหรับประกอบการยื่นเข้าศึกษาต่อด้วย

แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการยกเลิกการจัดสอบ SAT Subject Tests ไปแล้ว และมีการใช้ข้อสอบ ACT แทน

วิธีการคิดคะแนนสอบ SAT

การคิดคะแนนสอบ SAT

สำหรับวิธีการคิดคะแนนสอบ SAT นั้นจะนำคะแนนพาร์ท Evidence-based Reading & Writing และคะแนนสอบพาร์ท Math มารวมกัน ซึ่งในแต่ละพาร์ทจะมีคะแนนเต็มพาร์ทละ 800 คะแนน รวมเป็น 1,600 คะแนน โดยเริ่มด้วยการคำนวณจากคะแนนดิบ (Raw Score) หรือจำนวนข้อที่ตอบถูก และใช้ Score Conversion Table ในการแปลงคะแนน 

แต่สำหรับคะแนนพาร์ท Evidence-based Reading & Writing จะต้องแปลงคะแนนแต่ละพาร์ทก่อน และนำคะแนนทั้งสองส่วนมาบวกกัน ก่อนจะคูณด้วยสิบ หลังจากนั้น นำคะแนนทั้งสองพาร์ทบวกกัน ก็จะทำให้ได้คะแนนรวมของข้อสอบ SAT และการคิดคะแนนในแต่ละรอบนั้นจะวัดแบบตัด Curve หรือคล้ายกับการคิดคะแนนแบบอิงกลุ่มที่ดูจาก Percentile กล่าวคือ คะแนนจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของข้อสอบ และคะแนนของผู้เข้าสอบคนอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ความยากง่ายของข้อสอบจะวัดจากจำนวนผู้สอบที่ตอบถูกในข้อนั้นๆ ซึ่งถ้ามีผู้สอบตอบข้อนั้นถูกเป็นจำนวนมาก ข้อสอบข้อนั้นจะถือเป็นข้อที่ง่าย เป็นต้น 

ตัวอย่างการคิดคะแนน  

  • ข้อสอบ Math ทำถูก 57 ข้อ คะแนนที่ได้คือ 790/800 คะแนน
  • ข้อสอบ Reading ทำถูก 40 ข้อ คะแนนที่ได้คือ 33 คะแนน
  • ข้อสอบ Writing ทำถูก 31 ข้อ คะแนนที่ได้คือ 30 คะแนน 
  • นำคะแนน Reading และ Writing บวกกันแล้วคูณ 10 คะแนนที่ได้คือ 630/800 คะแนน
  • หลังจากนั้นนำคะแนน Math บวกกับคะแนน Evidence-based Reading & Writing คะแนน SAT ที่ได้คือ 1420 คะแนน
วิธีสมัครสอบ SAT

วิธีสมัครสอบ

วิธีการสมัครสอบ SAT จะเป็นการสมัครสอบแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของ College Board ซึ่งมีขั้นตอนในการสมัครที่ไม่ยุ่งยาก ดังนี้

  1. เริ่มต้นด้วยการลงทะเบียน สร้างบัญชีผู้ใช้งานกับเว็บไซต์ CollegeBoard 
  2. เมื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวครบถ้วน กำหนด Username และ Password เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการสมัครสอบผ่านเว็บไซต์ของ College Board เหมือนเดิม
  3. หลังจากนั้นระบบจะทำการยืนยันข้อมูลส่วนตัวอีกครั้งก่อนสมัคร
  4. กรอกข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เช่น โรงเรียนมัธยมปลาย เชื้อชาติ หรือสัญชาติ เป็นต้น
  5. กรอกรายละเอียดผลศึกษา พร้อมทั้งแผนการศึกษาในอนาคต กดยอมรับเงื่อนไขและข้อตกลงของ SAT
  6. สำหรับการเลือกสนามสอบนอกสหรัฐอเมริกาให้ไปที่ Outside the United States ทำการเลือกสนามสอบ Thailand และเลือกสนามสอบที่สะดวก บางครั้งสนามสอบอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ควรเช็กสถานะอย่างสม่ำเสมอ สำหรับใครที่ต้องการสอบ SAT Essay เพิ่ม สามารถเลือกได้เลยในขั้นตอนนี้
  7. อัพโหลดรูปลงในระบบตามที่ College Board กำหนด 
  8. ขั้นตอนสุดท้ายชำระเงิน 

ค่าสมัครสอบ SAT Registration ราคา 55 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,830 บาท) สำหรับประเทศในแถบ East Asia และ Pacific รวมถึงประเทศไทยจะมีค่า International Registration Fee อีก 53 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,760 บาท) ค่าสอบในสนามประเทศไทยจึงจะเริ่มต้นที่ 108 ดอลลาร์สหรัฐ  (ประมาณ 3,585 บาท)

สนามสอบ SAT ในประเทศไทย

สนามสอบในประเทศไทย

การสอบ SAT จะจัดสอบขึ้นปีละ 5 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม ตุลาคม และธันวาคม 

สำหรับสนามสอบในประเทศไทยจะแบ่งเป็นสนามในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย โดยส่วนใหญ่แล้วรายชื่อสนามสอบในแต่ละจังหวัดจะเป็นโรงเรียนนานาชาติในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งในแต่ละสนามสอบจะใช้มาตราฐานเดียวกัน โดยจัดสอบขึ้นในวันเสาร์

การยื่นคะแนนสอบ SAT

การยื่นคะแนนสอบ

การยื่นคะแนนสอบ SAT จะมีทั้งรูปแบบการพรินต์แล้วยื่นให้ทางคณะ หรือเป็นรูปแบบการยื่นผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้สอบจะต้องกดส่งคะแนน SAT ผ่านเว็บไซต์ของ College Board และทางหน่วยงานจะเป็นผู้ส่งคะแนนให้กับทางมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งรูปแบบการส่งคะแนนมีด้วยกัน 3 วิธี คือ

  1. ส่งแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สอบสามารถส่งได้ฟรี 4 Score Report ซึ่งจะเป็นคะแนนที่มาจากรอบใดก็ได้ โดยใน 1 Report อาจจะส่งคะแนน SAT ทั้งหมด 3 รอบก็ได้ แต่ 1 Score Report สามารถส่งไปให้ได้แค่ 1 คณะ / มหาวิทยาลัยเท่านั้น เริ่มตั้งแต่วันที่สมัครสอบไปจนถึง 9 วันหลังสอบเสร็จ ซึ่งจะใช้เวลาทั้งสิ้น 10 วัน
  2. ส่งแบบ Standard สำหรับใครที่ต้องการส่งคะแนนมากกว่า 4 Score Report จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม Score Report ละ 12 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 400 บาท) ซึ่งใช้ระยะเวลาในการส่ง 10 วันเท่ากันกับแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย
  3. ส่งแบบ Rush สำหรับใครที่ต้องการส่งคะแนน SAT ในระยะเวลาที่เร็วกว่าปกติ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 31 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,025 บาท) โดยเอกสารจะส่งภายใน 2 – 4 วันทำการ ไม่รวมวันหยุดและวันเสาร์ – อาทิตย์ 

การสอบ SAT เป็นการสอบวัดผลด้านคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ข้อสอบ SAT คือ ข้อสอบที่ได้มาตรฐานสากล ที่หลายๆ สถาบันในต่างประเทศใช้เป็นเกณฑ์ในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงหลักสูตรอินเตอร์ในประเทศไทยหลายๆ คณะก็ใช้ผลสอบ SAT ยื่นเข้าเช่นกัน ที่สำคัญการสอบ SAT มีการจัดสอบ 5 ครั้งต่อปี และคะแนนสอบยังสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี หากไม่พึงพอใจในคะแนนสอบครั้งแรก ก็สามารถสอบใหม่ไดั ช่วยให้น้องๆ มีโอกาสแก้ตัวในการสอบครั้งถัดไป และสามารถเลือกยื่นคะแนนสอบครั้งที่ดีที่สุด เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้

AKAT คือ สรุป Requirements แพทย์ & ทันตะฯ TCAS65

Date : Jun 25, 2020

You May Like